คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ต้องมีองค์ประกอบความผิด คือ ผู้กระทำต้อง “ขายของ” โดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ของโจทก์ไปใช้กับกิจการให้บริการโรงแรม และได้ใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ของโจทก์ประกอบเป็นชื่อ Domain name www.penthouse@penthousehotel.com เพื่อโฆษณากิจการของโรงแรมดังกล่าว กับใช้ชื่อจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ว่า penthouse@penthousehotel.com เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามให้ “บริการ” กิจการโรงแรม ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามขายของ ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 271
การกระทำที่จะถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) นั้นจึงต้องเป็นการนำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ที่นำมาใช้นี้ต้องนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ใช้ในการประกอบการค้านั้น คือ อักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ว่า “PENTHOUSE” ส่วนรูปหรือรอยประดิษฐ์หรือข้อความที่จำเลยทั้งสามใช้ในการประกอบกิจการค้าตามที่โจทก์นำสืบคือ
ซึ่งมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์รูปและคำประกอบกันมิได้มีลักษณะเป็นตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่เช่นของโจทก์ ส่วน Domain name ที่จำเลยทั้งสามใช้ในการสื่อสารเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมของจำเลยทั้งสามคือ www.penthousehotel.com และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์คือ penthouse@penthousehotel.com ไม่ได้ใช้เพียงชื่อว่า PENTHOUSE การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจมีมูลเป็นความผิดฐานเอาชื่อหรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่แจ้งความ จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 274 นี้ได้ เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ถูกเลียนจึงต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในหรือนอกราชอาณาจักร โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกากับสินค้าจำพวก 38, 16 รายการสินค้า นิตยสาร ปฏิทิน และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยกับสินค้าจำพวก 16, 41 รายการสินค้า นิตยสาร กับจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการกับรายการสินค้า ผลิตและแจกจ่ายรายการโทรทัศน์ บริการไนต์คลับและบ่อนกาสิโนเท่านั้นแต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามเลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อใช้กับกิจการโรงแรม อันเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในและนอกราชอาณาจักร ส่วนที่กล่าวอ้างว่า จำเลยเลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อใช้กับกิจการและบริการต่างๆ ของโรงแรมด้วย โจทก์ก็กล่าวถึงกิจการบริการต่างๆ ดังกล่าวไว้เฉพาะกิจการบริการสปา และสระว่ายน้ำภายในโรงแรมอันเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในและนอกราชอาณาจักร คดีโจทก์จึงไม่มีมูลในข้อหานี้เช่นกัน
??

??

??

??

1/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 271, 272 และมาตรา 274 และบังคับให้รับผิดทางแพ่ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยความรับผิดส่วนแพ่งของจำเลยทั้งสามต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวบกฎหมายอาญา มาตรา 271 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ…” ดังนั้น การกระทำอันจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงต้องมีองค์ประกอบความผิด คือ ผู้กระทำต้อง “ขายของ” โดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ของโจทก์กับกิจการให้บริการโรงแรม และได้ใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมาย PENTHOUSE ของโจทก์ประกอบเป็นชื่อ Domain name www.penthousehotel.com เพื่อโฆษณากิจการของโรงแรมดังกล่าว กับใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ว่า penthouse@penthousehotel.com เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าว โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามให้ “บริการ” กิจการโรงแรม ไม่ได้กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามขายของ ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 271 ดังกล่าวได้ คดีโจทก์จึงไม่มีมูลในข้อหานี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามมีมูลในความผิดฐานเอาชื่อหรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่แจ้งความจดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) บัญญัติว่า “ผู้ใด…เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น… ต้องระวางโทษ…” ดังนั้น การกระทำที่จะถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 272 (1) นั้น จึงต้องเป็นการนำชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ที่นำมาใช้นี้ต้องนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียบแบบ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ใช้ในการประกอบการค้านั้น คือ อักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ว่า “PENTHOUSE” ส่วนรูปหรือรอยประดิษฐ์หรือข้อความที่จำเลยทั้งสามใช้ในการประกอบการค้าตามที่โจทก์นำสืบต่อคือ ซึ่งมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์รูปและคำประกอบกันมิได้มีลักษณะเป็นตัวอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่เช่นของโจทก์ ส่วน Domain name ที่จำเลยทั้งสามใช้ในการสื่อสารเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมของจำเลยทั้งสามคือ www.penthousehotel.com และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์คือ penthouse@penthousehotel.com ไม่ได้ใช้เพียงชื่อว่า PENTHOUSE การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจมีมูลเป็นความผิดฐานเอาชื่อหรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่แจ้งความ จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามมีมูลในความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 บัญญัติว่า “ผู้ใดเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้นต้องระวางโทษ…” ดังนั้น การกระทำอันจะเป็นความผิดตามบทมาตรานี้ได้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ถูกเลียนจึงต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในหรือนอกราชอาณาจักร โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า PENTHOUSE ไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกากับสินค้าจำพวก 38, 16 รายการสินค้า นิตยสาร ปฏิทิน ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยกับสินค้าจำพวก 16, 41 รายการสินค้า นิตยสาร กับจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการกับรายการการค้า ผลิตและแจกจ่ายรายการโทรทัศน์ บริการไนต์คลับและบ่อนกาสิโนเท่านั้น แต่ตามคำฟ้องโจทก์โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามเลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อใช้กับกิจการโรงแรมอันเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนไว้แล้วทั้งในและนอกราชอาณาจักร ส่วนที่กล่าวอ้างว่า จำเลยเลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์เพื่อใช้กับกิจการบริการต่างๆ ในโรงแรมด้วย โจทก์ก็กล่าวถึงกิจการบริการต่างๆ ดังกล่าวไว้เฉพาะกิจการบริการสปา และสระว่ายน้ำภายในโรงแรม อันเป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการไว้แล้วทั้งในและนอกราชอาณาจักรเช่นกัน คดีโจทก์จึงไม่มีมูลในข้อหานี้เช่นกัน และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่อาจเป็นความผิดทางอาญาในความผิดฐานที่โจทก์กล่าวอ้างได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดในทางแพ่งอันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ด้วยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งในส่วนอาญาและแพ่งมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share