คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นฎีกาเพียงผู้เดียวถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 คน พ้นจากการจับกุมไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22, 39 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 (ที่ถูก มาตรา 64 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 6 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม (ที่ถูกต้องระบุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78) คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 4 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้รับมอบอำนาจผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 ตามสำเนามรณบัตรท้ายคำร้อง โจทก์รับว่าจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ แต่เห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำจะต้องให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบสถานบริการดังกล่าวและพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า หญิงทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 3 รับว่าหญิงทั้งหมดหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรและไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจริง แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งสถานบริการมีหญิงบริการต่างด้าวทั้งหมดเป็นผู้บริการอันเป็นการให้เข้าพักอาศัยในสถานบริการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้นหาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 พ้นจากการจับกุมไม่ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ ตามฟ้อง กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 215 และมาตรา 225
อนึ่ง ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน นั้น ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตามมาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ใน มาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคนต่างจากพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22, 39 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 27, 54 ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถูกคุมขังมาพอแก่โทษปรับตามคำพิพากษาแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไปและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share