คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 396/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ก็ต่อเมื่อโจทก์มิใช่เป็นผู้ที่ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล เมื่อเหตุเกิดขึ้นจากรถยนต์ของโจทก์และจำเลยซึ่งกำลังแล่นชนกัน เป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลทั้งสองฝ่าย จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 437 โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลย เป็นฝ่ายประมาท เพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-5610กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างแข่งกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-6345 กรุงเทพมหานคร บนถนนพหลโยธินจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรี ด้วยความประมาทใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวที่แล่นมาหยุดต่อท้ายรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0307 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ติดการจราจรอยู่จนกระเด็นมาชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ และรถยนต์ของโจทก์ไถลไปชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9836 สระบุรี ที่จอดอยู่ด้านหน้า ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 43-44 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รถยนต์ของโจทก์เสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 239,000 บาท ขาดประโยชน์จากการรับจ้างบรรทุกสินค้าวันละ 2,000 บาท ในระหว่างเวลาที่ซ่อมรถ60 วัน เป็นเงิน 120,000 บาท อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสื่อมราคาลง 80,000 บาท รวมเป็นเงิน 439,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันวินาศภัยซึ่งต้องรับผิดร่วมกันต่างเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์ของโจทก์ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถหยุดรถได้ทัน เมื่อรถยนต์บรรทุกหมายเลข 80-9836 สระบุรี หยุดรถจึงเสียหลักเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-6345 กรุงเทพมหานครและชนกัน สุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งแม้จะขับรถยนต์ตามหลังมาด้วยความระมัดระวังจะหยุดรถได้ทันจึงชนรถคันนั้น โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจให้ฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ถูกชนจึงไม่มีอำนาจฟ้อง อย่างไรก็ตาม เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์ของโจทก์ที่ใช้ความเร็วสูง เมื่อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-9836 สระบุรี ที่แล่นนำหน้าหยุดรออย่างกะทันหัน จึงห้ามล้อไม่ทันเสียหลักล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน88-6345 กรุงเทพมหานคร ซึ่งแล่นอยู่ด้วยหน้ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1ขับมา จนรถยนต์คันดังกล่าวต้องห้ามล้ออย่างกะทันหันและถูกรถยนต์จำเลยที่ 1 ชนท้ายจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บสาหัสและบุตรชายถึงแก่ความตาย โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์เสียเวลาซ่อมรถเพียง 20 วัน และขาดประโยชน์เพียงวันละ 700 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 เวลาประมาณ 6 นาฬิกานายสมพร สำราญกลาง ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0307 กรุงเทพมหานคร พ่วงรถหมายเลขทะเบียน 70-0300กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ไปบนถนนพหลโยธินจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรี แต่การจราจรติดขัดเพราะมีการซ่อมถนนระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 43-44 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี จึงห้ามล้อรถ ขณะเดียวกันนั้นเองถูกรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-6345 กรุงเทพมหานคร ชนท้ายอย่างแรงและรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวก็ถูกรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-5610กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาชนท้ายอีกทอดหนึ่งแรงชนทำให้รถยนต์บรรทุกของโจทก์กระเด็นไปชนท้ายรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9836 สระบุรี ซึ่งอยู่ข้างหน้าด้วยรถยนต์บรรทุกของโจทก์จึงได้รับความเสียหายทั้งรถคันหน้าและรถที่พ่วงท้ายต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2536 จำเลยที่ 2 มอบหมายให้นายขจรศักดิ์เมืองปลื้ม ไปตกลงใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่หน่วยสอบสวนทางหลวงรังสิตตามบันทึกตกลงเรื่องค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.10

จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่า พนักงานสอบสวนมิได้ลงความเห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ก็มิได้มอบอำนาจให้นายขจรศักดิ์ไปตกลงใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และนายขจรศักดิ์มิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดเช่นกัน

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2536 รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0307 กรุงเทพมหานครและรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0300 กรุงเทพมหานครของโจทก์ถูกรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-6345 กรุงเทพมหานครไม่ทราบชื่อผู้ขับชนท้ายและรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-6345 กรุงเทพมหานคร ถูกรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 88-5610 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับชนท้ายและรถยนต์บรรทุกของโจทก์ไปกระแทกชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-9836 สระบุรี ซึ่งจอดอยู่ข้างหน้ารถยนต์บรรทุกของโจทก์จึงได้รับความเสียหายที่ส่วนหน้าและหลังตามภาพถ่ายหมาย จ.9 รวม 4 ภาพ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 หน้าที่นำสืบจึงตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลย เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จะได้รับประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐานของกฎหมายต่อเมื่อฝ่ายโจทก์จะต้องมิใช่เป็นผู้ที่ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล เมื่อคดีนี้เกิดขึ้นจากรถยนต์ซึ่งกำลังแล่นชนกันเป็นยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลทั้งสองฝ่าย จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 437 ดังโจทก์อ้าง โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์นำสืบฟังได้หรือไม่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท โจทก์มีนายสมพร สำราญกลาง คนขับรถยนต์ของโจทก์เพียงปากเดียวเบิกความว่า พยานไม่ทราบว่า เหตุที่รถยนต์บรรทุกของโจทก์ถูกชนนั้นจะเกิดจากรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับหรือไม่และยังตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า รถยนต์บรรทุกที่พยานขับจะถูกชนอย่างไรไม่ทราบ คำเบิกความดังกล่าวจึงมิได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทที่นายสมพรเบิกความว่า ทราบจากเด็กท้ายรถว่ารถยนต์บรรทุก 2 คัน ที่ชนท้ายแล่นแข่งกันมานั้น โจทก์ก็มิได้นำเด็กท้ายรถซึ่งมีถึง 4 คนมาสืบ ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกแต่ละคันจะอยู่ในสภาพอย่างไรไม่ปรากฏรวมตลอดทั้งบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุของเจ้าพนักงานตำรวจโจทก์ก็มิได้นำสืบถึง สำหรับคำเบิกความของนายขันทอง ฤกษ์อ่ำผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่ารับฟังจากนายสมพรมาอีกทอดหนึ่งย่อมมีน้ำหนักน้อยและยังเบิกความแตกต่างจากนายสมพรในสาระสำคัญอีกด้วย ส่วนบันทึกตกลงเรื่องค่าเสียหายตามเอกสารหมายจ.10 ซึ่งระบุว่า นายขจรศักดิ์ เมืองปลื้ม เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการมอบอำนาจกันจริงหรือไม่หากนายขจรศักดิ์เป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ก็น่าจะส่งหลักฐานการมอบอำนาจหรือนำเจ้าพนักงานตำรวจ (อ่านชื่อไม่ออก) ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในบันทึกดังกล่าวมาเบิกความยืนยัน นายขันทองพยานโจทก์เองเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่านายขจรศักดิ์มิได้เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 นำสืบโต้แย้งว่านายขจรศักดิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบจึงไม่พอฟังว่านายขจรศักดิ์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังโจทก์ฎีกา นอกจากนี้ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของเจ้าพนักงานตำรวจตามเอกสารหมาย จ.12ก็มิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท คงมีใจความสั้น ๆ แต่เพียงว่าเหตุเกิดในขณะที่รถยนต์บรรทุกแล่นโฉมหน้าไปจังหวัดสระบุรีเท่านั้นสรุปแล้วพยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share