คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนด อันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ เมื่อจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานมีและเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๑๕, ๕๗, ๖๗, ๙๑ และขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๒ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสี่ โดยให้จำเลยทั้งสี่มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน มีกำหนด ๑ ปี และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสี่และพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง
ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนดอันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติและให้ลงโทษจำคุกซึ่งรอการลงโทษไว้
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๑ ปี และปรับ ๒๐,๔๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๑ ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงาน คุมประพฤติทุก ๓ เดือน และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยที่ ๓ และพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด ๒๔ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ จำเลยที่ ๓ ไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนดอันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ จึงให้ยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ เมื่อจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ๒ มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง จำเลยที่ ๓ จะฎีกาไม่ได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ดังเช่นคดีอาญาทั่ว ๆ ไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ ๓ มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ ๓.

Share