คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4640/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่18กรกฎาคม2537ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของผู้ร้องในวันรุ่งขึ้นว่าให้รับอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน5วันไม่มีผู้รับให้ปิดโดยเจ้าหน้าที่ของศาลได้ประทับตามยางกำหนดให้ผู้ร้องมาทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่21กรกฎาคม2537ซึ่งผู้ร้องได้ลงชื่อรับทราบไว้แล้วกรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่21กรกฎาคม2537แต่ผู้ร้องมิได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์จนกระทั่งวันที่17สิงหาคม2537อันล่วงเลยกำหนดเวลา5วันตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีได้รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าพ้นกำหนดระยะเวลาในการนำหมายแล้วผู้ร้องไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งศาลชั้นต้นจึงให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2),246ประกอบด้วยมาตรา153แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้ผู้ร้องจะได้เสียค่าธรรมเนียมในการนำส่งก็ไม่ทำให้ผู้ร้องหมดหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการนำส่งตามตำสั่งของศาลชั้นต้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2)บัญญัติว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอันเป็นผลที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเมื่อผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วแต่ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือได้ว่าผู้ร้องไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2)ประกอบด้วยมาตรา246จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์โดยไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องสั่งไว้อย่างชัดแจ้งด้วยว่า”หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าทิ้งฟ้อง”

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เยาวราช จำกัด ผู้ล้มละลายเด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 และมีคำพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2530 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือที่ ยธ.0305/2782/2530 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2530 แจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 11,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 652, 937, 5668,5669, 5670, 5684, 5695, 5697, 5698, 5699, 9145, 9146และ 9147 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโรงแรมไทยรุ่งโรจน์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากจะปฏิเสธ ก็ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแต่ผู้ร้องมิได้ชำระหนี้หรือปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดจึงถือว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกคำบังคับและหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้อง ชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดตราดบังคับคดีแทนและได้มอบให้ผู้แทนนำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตราดยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและประกาศขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงหนี้จากผู้ร้อง โดยส่งหนังสือไปยังอาคารเลขที่ 109 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและเป็นบริษัทร้างตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2529 แล้วการทวงหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องไม่มีโอกาสปฏิเสธหนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับหมายบังคับคดีจึงกระทำโดยผิดหลงขอให้เพิกถอนคำบังคับและหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงถามใหม่ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ก็ให้ประกาศหนังสือพิมพ์
ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องว่า การสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เป็นเรื่องศาลปฏิบัติผิดระเบียบ จึงนำมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับไม่ได้อีกทั้งการขอเพิกถอนตาม มาตรา 27 ผู้ร้องจะต้องร้องขอภายใน8 วัน นับแต่รู้ว่าผิดระเบียบ ผู้ร้องมายื่นคำร้องเกินกำหนด 8 วันแล้ว ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่ง ให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับให้ปิด ต่อมาเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีรายงานว่าพ้นกำหนดระยะเวลาในการนำหมายแล้ว ผู้ร้องไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งศาลชั้นต้นให้ส่งสำเนาไปศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของผู้ร้องในวันรุ่งขึ้นว่า ให้รับอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับให้ปิดโดยเจ้าหน้าที่ของศาลได้ประทับตรายางกำหนดให้ผู้ร้องมาทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 ซึ่งผู้ร้องได้ลงชื่อรับทราบไว้แล้ว กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 แต่ผู้ร้องมิได้มานำส่งสำเนาอุทธรณ์ จนกระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม 2537 อันล่วงเลยกำหนดเวลา 5 วัน ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีได้รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนดระยะเวลาในการนำหมายแล้วผู้ร้องไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งศาลชั้นต้นจึงให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2), 246 ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องได้ดำเนินการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2537ภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว โดยมีหลักฐานแบบคำขอวางเงินนำหมายล่วงหน้าฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 แนบมาท้ายฎีกานั้นเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้ผู้ร้องจะได้เสียค่าธรรมเนียมในการนำส่งก็ไม่ทำให้ผู้ร้องหมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ทั้งหลักฐานแบบคำขอที่ผู้ร้องแนบมาท้ายฎีกาก็เป็นกรณีของนางปรียา สุทธิวารี เป็นผู้ร้อง หาใช่ผู้ร้องในคดีนี้ไม่
ผู้ร้องฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ส่งสำเนาอุทธรณ์คำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 5 วันไม่มีผู้รับให้ปิดโดยมิได้สั่งตลอดไปถึงว่าหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์คำสั่งไว้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์ จึงนอกเหนือเกินเลยไปจากคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) บัญญัติว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอันเป็นผลที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน5 วัน แล้ว แต่ผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือได้ว่าผู้ร้องไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพื่อการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์โดยไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องส่งไว้อย่างชัดแจ้งด้วยว่า “หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าทิ้งฟ้อง” ดังที่ผู้ร้องฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share