แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นการกำหนดเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นพิพาทของคู่ความ ส่วนการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นใดก่อนหรือหลัง ย่อมเป็นไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินกระบวนการพิจารณา แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้น ต้องวินิจฉัยจากถ้อยคำพยานที่คู่ความนำสืบมาประกอบกัน โดยพิจารณาตามภาระหน้าที่ในการพิสูจน์ของแต่ละฝ่าย หาใช่ว่าฝ่ายใดมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนแล้วจะต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่
โจทก์ฟ้องว่า บ้านและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 กึ่งหนึ่งอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของสามีโจทก์ที่ 1 ตกได้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยในฐานะทายาทคนละส่วนเท่า ๆ กัน จำเลยต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวตามข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์สิน และจำเลยครอบครองมาด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า 10 ปี แล้วจึงได้สิทธิครอบครอง โจทก์มิได้ดำเนินคดีภายในกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจึงเป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างว่า บ้านและที่ดินพิพาทได้มีการแบ่งปันตกเป็นของจำเลยโดยชอบ จนกระทั่งจำเลยได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตาม น.ส.3 ก. แม้จำเลยเป็นผู้มีชื่อใน น.ส.3 ก. และได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่า เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่จำเลยยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินตามข้อตกลงของทายาทโดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนและโดยสุจริต อันเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมาใหม่อีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า “โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทตามฟ้องหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่” แล้วให้จำเลยเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนทั้งสองประเด็นโดยที่ประเด็นข้อหลังภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาความแล้ว