คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 และกล่าวไว้ในท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาใหม่อีกครั้งหนึ่งและขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งในฎีกาของจำเลย ไม่มีข้อความระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบกับมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และวรรคสาม แล้วคงจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 74 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือนนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ ต้องเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำ ป.อ. มาตรา 80 ที่ให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับ ดังนั้นเมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม แล้ว โทษจำคุกที่กำหนดแก่จำเลย คือ 16 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วคงจำคุกเพียง 8 ปี 4 เดือน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 288, 289 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้พยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 144 ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ทุก 4 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี ให้จำเลยไปศึกษา เข้ารับการฝึกอบรม รับคำปรึกษาแนะนำรับการรักษา แก้ไขบำบัดฟื้นฟู ประกอบสัมมาชีพ หรือให้จำเลยเข้ารับการอบรมศีลธรรม จริยธรรม และหน้าที่พลเมือง ในระหว่างคุมประพฤติห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสิ่งมึนเมาทุกชนิด ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาล และห้ามเล่นการพนัน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก และคืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ จึงไม่นำโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้บังคับแก่จำเลย โดยให้ถือว่าระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตเปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสอง และวรรคสาม ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี นับแต่วันพิพากษา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่พิพากษาลงโทษจำเลย โดยจำเลยยื่นฎีกามาจำนวน 9 หน้า แต่ฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดลอกข้อความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 และกล่าวไว้ในท้ายฎีกาแต่เพียงว่า ขอให้ศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาพิพากษาใหม่อีกครั้งหนึ่งและจำเลยขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นส่วนหนึ่งในฎีกาของจำเลย ข้อความตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวมิได้ระบุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษห้าสิบปี ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบกับมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสอง และวรรคสาม แล้วคงจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือนนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ จึงให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับ หลังจากนั้นเมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม คงลงโทษจำคุก 16 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกเพียง 8 ปี 4 เดือน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม แล้วจำคุก 16 ปี 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 4 เดือน ส่วนการฝึกอบรมและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share