คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง อันเป็นการขอให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12(4) เมื่อศาลล้มละลายได้มีคำสั่งยกคำร้องอันถือได้ว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 90/79(4)
การขออนุญาตฟ้องลูกหนี้ผู้ร้องหลังจากที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะกรณีของผู้ร้องยังมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยให้กระจ่างชัดว่า ผู้ร้องอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/27 หรือไม่ เนื่องจากผู้ร้องกล่าวอ้างว่ามูลแห่งหนี้ของผู้ร้องเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากกรณีเป็นดังที่อ้างผู้ร้องก็ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้คงมีเพียงหนทางเดียวที่ผู้ร้องจะขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องได้ก็ด้วยการขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิตามมาตรา 90/12(4) ในกรณีที่ศาลเห็นว่าการจำกัดสิทธิของผู้ร้องนั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13(1) การที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว อีกทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26 ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นได้
ผู้ร้องมีหนังสือถึงลูกหนี้ในวันที่ 14 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 1 วัน ระบุว่า ผู้ร้องขอเชิญลูกหนี้ยื่นข้อเสนอขายสินค้าที่แน่นอนให้ผู้ร้องพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ร้องกับบริษัท อ. และลูกหนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท อ. ในการเสนอขายสินค้าจึงยังไม่เกิด จนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้โดยผู้ทำแผนจึงแจ้งแก่บริษัท อ. ว่า ผู้ร้องระบุการประกวดราคาไม่เกิน 69.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐสินค้า20.000เมตริกัน จึงขอให้บริษัท อ. หาเรือที่มั่นคงมีตารางแน่นอน ครั้นวันรุ่งขึ้นลูกหนี้โดยผู้ทำแผนจึงแจ้งแก่บริษัทดังกล่าวว่า ผู้ร้องได้ยืนยันการซื้อสินค้าตามหนังสือสั่งซื้อของผู้ร้องลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่มีถึงบริษัท อ. ที่อยู่ ณ กรุงปารีส แสดงว่า มูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและบริษัท อ. พร้อมทั้งลูกหนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการมิใช่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27
ผู้ทำแผนกระทำการในนามของลูกหนี้ตามอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 90/25 ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะเป็นการดำเนินกิจการที่ต่อเนื่องมาจากการติดต่อทางการค้ากับผู้ร้องในนามของลูกหนี้ในฐานะของกรรมการลูกหนี้มาตั้งแต่ก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ จึงไม่ต้องห้ามมิให้ลูกหนี้ก่อหนี้ตามมาตรา 90/12(9)
ผู้ร้องอ้างว่าลูกหนี้ผิดสัญญาจึงดำเนินการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้ เป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา 90/13 หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ เมื่อผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 ได้ จึงถือได้ว่าการจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13(1) ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2545 และมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 15มิถุนายน 2544 โดยตั้งนายสมคิด สุเมธโชติเมธา กรรมการบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผนแล้ว ลูกหนี้โดยผู้ทำแผนได้ก่อหนี้กับผู้ร้อง โดยเป็นตัวแทนเสนอขายสินค้าประเภทแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศให้แก่ผู้ร้อง และในวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ผู้ร้องได้ออกใบสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 20,000 เมตริตันบวก/ลบ 10 เปอร์เซ็นต์ ในราคาเมตริกตันละ 69.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็นราคารวม1,390,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ลูกหนี้ได้เสนอขาย ครั้นวันที่ 19 มิถุนายน 2544ลูกหนี้ได้มารับใบสั่งซื้อจากผู้ร้องเพื่อดำเนินการจัดส่งต่อให้บริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัดและบริษัทดังกล่าวได้ส่งโทรสารการลงนามใบสั่งซื้อพร้อมกับแก้ไขข้อสัญญาบางประการมอบแก่ผู้ร้องผ่านทางลูกหนี้และผู้ร้องได้ตอบรับการแก้ไขข้อสัญญาดังกล่าวแล้ว ต่อมาบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด และลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาซื้อขาย โดยส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนดเวลาผู้ร้องจึงยื่นฟ้องบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด และลูกหนี้กับพวกให้ร่วมรับผิดในความเสียหายต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเดิมศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้องแต่ต่อมามีคำสั่งว่าที่รับฟ้องลูกหนี้ไว้นั้น เป็นการขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 90/12(4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นการสั่งไปโดยหลงผิด จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องลูกหนี้ เป็นไม่รับฟ้องเฉพาะลูกหนี้ ขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เพื่อให้รับผิดชดใช้หนี้ค่าเสียหายต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลอื่นใดที่มีเขตอำนาจ

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า มูลหนี้ตามคำร้องได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่าที่ศาลล้มละลายกลางรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลฎีกานั้น อุทธรณ์ดังกล่าวต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง อันเป็นการขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12(4) เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องอันถือได้ว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/79(4)อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณาถึงข้ออ้างตามคำร้องและคำฟ้องลูกหนี้พร้อมเอกสารแนบท้ายแล้ว เห็นว่า การขออนุญาตฟ้องของผู้ร้องหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/12(4) เป็นเรื่องสำคัญเพราะกรณีของผู้ร้องยังมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยให้กระจ่างชัดว่า ผู้ร้องอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ตามมาตรา 90/27 หรือไม่ เนื่องจากผู้ร้องกล่าวอ้างว่ามูลแห่งหนี้ของผู้ร้องได้เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หาได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการไม่ ซึ่งหากกรณีเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องก็ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ คงมีเพียงหนทางเดียวที่ผู้ร้องจะขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องได้ก็ได้ด้วยการขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนตามมาตรา 90/12(4) ในกรณีที่ศาลเห็นว่าการจำกัดสิทธิของผู้ร้องนั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13(1) การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้ชัดแจ้งในข้อที่ 3 ว่า มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว อีกทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26 ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า ผู้ร้องจะขอคุ้มครองสิทธิของตนตามมาตรา 90/13(1) ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารภาษาอังกฤษพร้อมทั้งคำแปลท้ายคำร้องแม้ผู้มีหนังสือถึงลูกหนี้ในวันที่ 14 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 1 วัน ก็ตาม แต่หนังสือดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องขอเชิญลูกหนี้ยื่นข้อเสนอที่แน่นอนให้ผู้ร้องพิจารณา ดังปรากฏตามเอกสารหมายเลข 4สัญญาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด และลูกหนี้จึงยังไม่เกิด จนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 3 วัน ลูกหนี้โดยนายสมคิด สุเมธโชติมา ผู้ทำแผนจึงแจ้งแก่บริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด ว่าผู้ร้องระบุการประกวดราคาไม่เกิน 69.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ สินค้า 20,000 เมตริกันจึงขอให้บริษัทหาเรือที่มั่นคงมีตารางแน่นอน และมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งแจ้งให้บริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด ทราบว่า บริษัทได้รับอนุมัติให้ระบุไว้ในสัญญาว่าเรือต้องมาถึงท่าเรือไม่ช้ากว่าวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 ขอให้บริษัทแจ้งกลับถึงสัญญาของบริษัททันทีภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ครั้นวันรุ่งขึ้นลูกหนี้โดยผู้ทำแผนจึงแจ้งแก่บริษัทดังกล่าวว่า ผู้ร้องได้ยืนยันการซื้อสินค้าแอมโมเนียมซัลเฟต ตามหนังสือสั่งซื้อของผู้ร้องลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่มีถึงบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัดที่อยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เอกสารหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่า มูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและบริษัทเอฟเวอร์เทรด จำกัด พร้อมทั้งลูกหนี้ได้เกิดขึ้นวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หาใช่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/27 ดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยไม่ และเมื่อพิเคราะห์ถึงการกระทำดังกล่าวของผู้ทำแผนซึ่งกระทำในนามของลูกหนี้ ตามอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วตามมาตรา 90/25 ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะเป็นการดำเนินกิจการที่ต่อเนื่องมาจากการติดต่อทางการค้ากับผู้ร้องในนามของลูกหนี้ในฐานะของกรรมการลูกหนี้มาตั้งแต่ก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ จึงไม่ต้องห้ามมิให้ลูกหนี้ก่อหนี้ตามมาตรา 90/12(9) อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าลูกหนี้ผิดสัญญา จึงดำเนินการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามมาตรา 90/12(4) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา 90/13 หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 ได้ เหตุนี้จึงถือได้ว่า การจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13(1) ศาลจึงต้องมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”

พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งตามคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12(4) ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share