แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดว่า ถ้าเจ้าของเครื่องจักรพิพาทหรือผู้ขนส่งมิได้แจ้งราคาจริงของเครื่องจักรพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายแต่ไม่เกินจำนวน 5,000 บาท ต่อหนึ่งหีบห่อ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 29 (1) และมาตรา 9 (4) ที่ให้คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจวางข้อบังคับและระเบียบการตามที่ระบุในมาตรา 9 (4) คือ จัดระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย การใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือเท่านั้น หาได้ให้อำนาจคณะกรรมการออกข้อบังคับจำกัดความรับผิดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดไม่ ทั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดข้อจำกัดความรับผิดขึ้นฝ่ายเดียว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า การนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบเพื่อการจัดการบริการของจำเลยที่ 1 ก็ดี การที่ตัวแทนเจ้าของเครื่องจักรพิพาทยื่นหนังสือขออนุญาตนำสินค้าออกจากโรงพักสินค้าโดยมีข้อความว่า ยอมรับจะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 1 ออกใบรับของให้โดยพิมพ์ข้อความไว้ว่า ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 มีจำกัดตามเงื่อนไขในข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัย การใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือก็ดี ไม่ใช่ข้อตกลงโดยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อจำกัดความรับผิดค่าเสียหายตามระเบียบดังกล่าวขึ้นอ้างได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,473,167 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,440,895 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,440,895 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2536 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 32,272 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในประการสุดท้ายว่า เจ้าของเครื่องจักรพิพาทหรือผู้ขนส่งมิได้แจ้งราคาจริงของเครื่องจักรพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายแต่ไม่เกินจำนวน 5,000 บาท ต่อหนึ่งหีบห่อ ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัย การใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 58 นั้น เห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 29 (1) และมาตรา 9 (4) ที่ให้คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจวางข้อบังคับและระเบียบการตามที่ระบุในมาตรา 9 (4) คือ จัดระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย การใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือเท่านั้น หาได้ใช้อำนาจคณะกรรมการออกข้อบังคับจำกัดความรับผิดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดไม่ ทั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดข้อจำกัดความรับผิดขึ้นฝ่ายเดียว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า การนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบเพื่อการจัดการบริการของจำเลยที่ 1 ก็ดี การที่ตัวแทนเจ้าของเครื่องจักรพิพาทยื่นหนังสือขออนุญาตนำสินค้าออกจากโรงพักสินค้าโดยมีข้อความว่า ยอมรับจะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ก็ดี หรือการที่จำเลยที่ 1 ออกใบรับของให้โดยพิมพ์ข้อความไว้ว่า ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 มีจำกัดตามเงื่อนไขในข้อบังคับที่ 7/2494 ว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ ก็ดี ไม่ใช่ข้อตกลงโดยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อจำกัดความรับผิดค่าเสียหายตามระเบียบดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 8,000 บาท แทนโจทก์.