แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงานยังถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ปล่อยให้ฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายเกินมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด จำเลยย่อมคาดหมายได้ว่าฝุ่นฝ้ายที่ฟุ้งกระจายนั้นย่อมเกิดอันตรายต่อโจทก์ การเจ็บป่วยของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2,737,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปั่นด้ายและทอผ้า สถานประกอบการประกอบด้วยโรงงาน 3 โรง โรงงานแรกก่อตั้งมาได้ 40 ปีโรงงานที่สองที่โจทก์ทำงานอยู่ก่อตั้งมาได้นานกว่า 20 ปี อาคารโรงงานเป็นคอนกรีตชั้นเดียวปิดทึบทุกด้าน ไม่มีการระบายอากาศแบบธรรมชาติ จำเลยที่ 1 ใช้ฝ้ายในการผลิตมีฝุ่นฝ้ายเกิดขึ้น โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2530 ตอนแรกทำงานเป็นพนักงานส่งด้ายแผนกทอผ้า ทำงานได้ประมาณ 1 ปี จึงมาทำหน้าที่สาวหลอด ใส่หลอดในโรงงานที่สอง และเป็นพนักงานทอผ้าในโรงงานที่สองจากนั้นจึงมาทำงานในตำแหน่งพนักงานอะไหล่ทั่วไป ในระหว่างทำงานโจทก์ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โจทก์รักษาโดยซื้อยามารับประทานเองและตรวจรักษาโดยแพทย์ วันที่ 25 มกราคม 2539 ศาสตราจารย์นายแพทย์ประพาฬ ยงใจยุทธแพทย์ผู้รักษาโจทก์ออกใบรับรองว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิส โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสเนื่องจากการทำงานมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2540 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 สถาบันความปลอดภัยในการทำงานได้ตรวจสภาพแวดล้อมการทำงานในสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม2535 และในเดือนพฤษภาคม 2539 ได้จัดเก็บตัวอย่างและทำรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ไว้ การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสเนื่องจากการทำงาน โดยได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แล้ว หากการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลมาจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อีก การที่โจทก์เรียกร้องและได้มาซึ่งสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดอีกไม่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงลดปริมาณฝุ่นฝ้ายให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และยังคงให้ลูกจ้างทำงานภายในสถานประกอบการที่มีปริมาณฝุ่นฝ้ายในอากาศโดยเฉลี่ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง แต่การป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสหรือไม่ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาภูมิไวต่อฝุ่นฝ้าย ในส่วนที่เกี่ยวกับการแพ้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่นฝ้ายแต่ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาภูมิไวของบุคคลต่อฝุ่นฝ้าย แม้มีปริมาณฝุ่นฝ้ายในอากาศภายในโรงงานน้อยกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ดังนั้น การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงานยังถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้มีฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายเกินกว่ามาตรฐานและกองตรวจความปลอดภัยได้มาตรวจถึง 2 ครั้ง แต่จำเลยทั้งสองก็ยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าฝุ่นฝ้ายที่ฟุ้งกระจายอยู่ย่อมเกิดอันตรายต่อโจทก์และลูกจ้างอื่นได้ การเจ็บป่วยของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคบิสซิโนซิสจากการทำงานยังถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองที่ปล่อยให้ฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายเกินมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด จำเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าฝุ่นฝ้ายที่ฟุ้งกระจายนั้นย่อมเกิดอันตรายต่อโจทก์ การเจ็บป่วยของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์