คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ถูกทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่ผู้ตายเช่าซื้อเป็นกรณีที่ผู้ใช้เช่าซื้อทวงถามโจทก์ให้ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเดือนร้อนเพราะขาดอุปการะจากผู้ตายจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า น้องชายของโจทก์ประสบอันตรายและถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ในฐานะผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายจึงยื่นคำร้องต่อจำเลยขอรับเงินทดแทน จำเลยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ โจทก์อุทธรณ์ แต่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยยกอุทธรณ์ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน กับให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายเพราะโจทก์มีอาชีพมีฐานะและไม่ได้รับการอุปการะจากผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิได้เงินทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่โจทก์ถูกทวงถามจากผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อทวงถามโจทก์ให้ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อดังกล่าว ดังนั้น แม้จะถือว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายและได้รับความเดือนร้อนจากการที่ถูกผู้ให้เช่าซื้อทวงถามจริง ก็เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเดือนร้อนเพราะโจทก์ถูกบังคับตามสัญญาค้ำประกัน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเดือนร้อนเพราะขาดอุปการะจากผู้ตายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 20 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน”
พิพากษายืน

Share