คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่ธนาคารจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดแม้จะอยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์แล้ว แต่ก็ยังจำแนกได้ว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ มิได้ปะปนกับเงินอื่นของโจทก์จนไม่อาจแยกออกได้หรือได้ใช้สอยแปรเปลี่ยนไปเป็นทรัพย์สินอื่นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 หักเงินจำนวน 47,647.22บาท ซึ่งเป็นส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์จากบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำเลยที่ 1จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23,24 และยังเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 346 จำเลยที่ 1จึงต้องคืนเงินที่หักไว้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างในอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,065 บาท โจทก์ได้ลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2544 จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเลยที่ 1มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมและเงินสมทบโดยให้โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 ทุกงวดการจ่ายค่าจ้างโดยหักจากค่าจ้างโจทก์ในอัตราร้อยละ 3ของค่าจ้าง และจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 6 ของเงินค่าจ้างทุกงวดของการจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2539 จนถึงวันที่31 ธันวาคม 2534 โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนเป็นเงิน 13,912.80 บาท และได้ประโยชน์เงินสะสมเป็นเงิน 3,423.69 บาท รวมเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมเป็นเงิน 17,336.49 บาท จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนให้โจทก์เป็นเงิน 37,432.53 บาท และได้ผลประโยชน์เงินสมทบเป็นเงิน 10,626.76 บาท รวมเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 48,059.29 บาทรวมเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน 65,395.78 บาท เมื่อโจทก์ลาออกจากงานตามระเบียบของจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมพร้อมเงินผลประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นจำเลยทั้งสองจ่ายเงินให้โจทก์แล้วจำนวน 17,336.49 บาท ที่เหลืออีก 47,647.22บาท ไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน 47,647.22 บาท แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ก่อนโจทก์ลาออกได้กู้เงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 612,000 บาท เมื่อโจทก์ลาออกโจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวนตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์บัญชีเลขที่ 100-2-07700-9 ณ ธนาคารจำเลยที่ 1 สำนักงานใหญ่แล้วและจำเลยที่ 1 ได้หักเงินจำนวน 47,647.22 บาท ชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ค้างชำระต่อจำเลยที่ 1 ตามหนังสือให้ความยินยอมให้หักเงินและผลประโยชน์ของโจทก์ ส่วนเงินจำนวน17,336.49 บาท โจทก์สามารถเบิกถอนได้ตลอดเวลา ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้จ่ายเงินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ตามระเบียบและขั้นตอนของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความรับกันว่า เมื่อโจทก์ได้ลาออกจากงาน จำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งส่วนเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม 17,336.49 บาท และส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ 48,059.39 บาท แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์และได้หักเงินจำนวน 47,647.22 บาท ชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ค้างชำระต่อจำเลยที่ 1 ตามหนังสือยินยอมให้หักเงินและผลประโยชน์และหนังสือยินยอม เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 4 และ 5 คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะความรับผิดของจำเลยที่ 1 ว่า ที่จำเลยที่ 1 หักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 47,647.22 บาท ไว้ตามหนังสือยินยอมของโจทก์นั้นเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23, 24 หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนโดยให้จ่ายรวมทั้งหมดครั้งเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 23 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี บทบัญญัติดังกล่าวแสดงเจตนารมณ์ว่าสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดคราวเดียวโดยเร็วอย่างช้าไม่เกินสามสิบวัน เพื่อนำไปเลี้ยงดูชีวิตตนเองและครอบครัว (ถ้ามี) ทั้งนี้ โดยไม่ถูกโอนหรือถูกบังคับคดีหรือถูกบังคับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ เงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดแม้จะอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของโจทก์แล้วก็ตามแต่ก็ยังจำแนกได้ว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ มิได้ปะปนกับเงินอื่นของโจทก์จนไม่อาจแยกออกได้หรือได้ใช้สอยแปรเปลี่ยนไปเป็นทรัพย์สินอื่นแล้วดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 หักเงินจำนวน 47,647.22 บาท ซึ่งเป็นส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบอันเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของโจทก์จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำเลยที่ 1 จึงเป็นขัดต่อเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าว และยังเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 346 ซึ่งบัญญัติใจความสำคัญว่า สิทธิเรียกร้องรายใดตามกฎหมาย ศาลจะสั่งยึดไม่ได้สิทธิเรียกร้องนั้นจะนำไปหักกลบลบหนี้ไม่ได้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวนที่หักไว้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 47,647.22บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share