คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวของเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก จึงมิใช่พนักงานส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายมาตราดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 และศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกไม่วินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๐, ๑๐๒ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง, ๑๐๒ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ สำหรับจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ กำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ ซึ่งระวางโทษเท่ากันให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ กำหนดโทษประหารชีวิต จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ (๒) คงจำคุกจำเลยทั้งห้าตลอดชีวิต และ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ไม่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…
อย่างไรก็ดี สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวของเทศบาลตำบล สุไหงโก-ลก จึงมิใช่พนักงานส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๐ ดังฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ โดยปรับบทกฎหมายมาตราดังกล่าวด้วย และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขนั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง, ๑๐๒ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share