คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามแต่ละคนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละแปลงอยู่ติดต่อกัน จำเลยทั้งสามได้ทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิครอบครอง คดีจึงมีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการพิพาทด้วยสิทธิในที่ดิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้โจทก์ทั้งสามจะมีคำขอห้ามจำเลยทั้งสามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และให้ยกเลิกหรือระงับหรือเพิกถอนการแจกหรือออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมาด้วยก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากประเด็นหลักเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสามย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละแปลง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 จึงต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่คนละคนแยกกัน ที่ดินพิพาทสามแปลงรวมเนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา ราคา 229,250 บาท ของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 9 ไร่เศษ ของโจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 10 ไร่เศษ และของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่ เศษ ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และจำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณบ้านซับผาสุก หมู่ที่ 9 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 9 ไร่เศษ ที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศตะวันตก ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 20693 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และที่ดินมีสิทธิครอบครองที่อยู่ติดกันของโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาจากนายวันดีเมื่อปี 2536 ต่อมานายสุรพลบุกรุกที่ดินของโจทก์ที่ 1 บางส่วนศาลมีคำพิพากษาให้นายสุรพลออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1004/2539 ของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 จึงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินบริเวณบ้านซับผาสุกหมู่ที่ 9 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 10 ไร่เศษ มาประมาณ 40 ปี แล้วที่ดินดังกล่าวทางทิศตะวันตกติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1143 โจทก์ที่ 3 ครอบครองที่ดินบริเวณบ้านซับผาสุขหมู่ที่ 9 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 12 ไร่เศษ โดยที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินที่มีการครอบครองของโจทก์ที่ 2 ทิศใต้ติดทางสาธารณะทิศตะวันออกติดที่ดินของราชพัสดุซึ่งมีโรงเรียนบ้านซับผาสุกตั้งอยู่ โจทก์ที่ 3 ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลา 30 ปีเศษแล้ว ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีเนื้อที่ติดต่อกันทั้งสามแปลง โจทก์ทั้งสามไม่เคยสละสิทธิการครอบครองหรือยกที่ดินให้แก่ทางราชการ เมื่อประมาณกลางปี 2542 จำเลยทั้งสามร่วมกันตรวจสอบที่ดินบริเวณบ้านซับผาสุก หมู่ที่ 9 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เพื่อรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยเชื่อคำกล่าวของนายสุรพลกับสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลศิลาทิพย์หมู่ที่ 9 กับพวกว่า ที่ดินที่โจทก์ทั้งสามครอบครองทำประโยชน์อยู่ดังกล่าวเป็นที่ว่าง และเป็นที่สาธารณประโยชน์บ้านซับผาสุข ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ทั้งสามได้คัดค้านการดำเนินการของจำเลยทั้งสามมาตลอด ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 2 ประกาศแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมาคัดค้านภายใน 30 วัน ซึ่งที่ดินตามประกาศดังกล่าวทับอยู่ในที่ดินที่โจทก์ทั้งสามครอบครองทำประโยชน์อยู่ โจทก์ทั้งสามจึงไปคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 9 ไร่เศษ ของโจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 10 ไร่เศษ และของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่เศษ ในบริเวณบ้านซับผาสุก หมู่ที่ 9 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี รวมเนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา และให้ยกเลิก หรือระงับ หรือเพิกถอนการแจกหรือออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามประกาศของสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีสาขาชัยบาดาล เรื่องแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน เดิมเป็นป่าช้าที่เผาและฝังศพของประชาชน ต่อมาใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิครอบครอง จำเลยทั้งสามร่วมกันรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ คดีระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายสุรพลไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลยทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ โจทก์ที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ และโจทก์ที่ 3 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 12 ไร่เศษ ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ติดต่อกัน รวมเนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา ราคา 229,250 บาท จำเลยทั้งสามได้ทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การโต้เถียงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิครอบครอง คดีจึงมีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นการพิพาทด้วยสิทธิในที่ดินตามฟ้อง จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้โจทก์ทั้งสามจะมีคำขอห้ามจำเลยทั้งสามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และให้ยกเลิกหรือระงับหรือเพิกถอนการแจกหรือออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมาด้วย ก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากประเด็นหลักเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะหากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโจทก์ทั้งสามย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละแปลง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 จึงต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่คนละคนแยกกัน ที่ดินพิพาทสามแปลงรวมเนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา ราคา 229,250 บาท ที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ 9 ไร่เศษ ของโจทก์ที่ 2 เนื้อที่ 10 ไร่เศษ และของโจทก์ที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่ เศษ ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสามมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาฎีกาของโจทก์ทั้งสาม ให้คืนค่าธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share