คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ และโจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 2 แต่ทางดังกล่าวในที่ดินของจำเลยที่ 2 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นทางจำเป็น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทางพิพาทอาจเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือทั้งสองอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมอยู่จนไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ปิดล้อมอยู่นั้นเปิดทาง เพื่อให้โจทก์เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 อันเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 89 จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 654 ส่วนจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 655 ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสอง โดยที่ดินของโจทก์มีที่ดินของจำเลยทั้งสองและของบุคคลอื่นล้อมรอบอยู่ ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อปี 2519 โจทก์และบริวารซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ได้ใช้เส้นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยการเดินและใช้รถยนต์ผ่านที่ดิน 2 แปลง คือ ที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 73 ซึ่งเป็นของนางต้าน ทางดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 554.85 เมตร ซึ่งโจทก์ใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ต่อมาปี 2530 จำเลยทั้งสองต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นทางดังกล่าวจึงขอให้โจทก์และบริวารใช้เส้นทางอีกเส้นทางหนึ่ง โดยผ่านที่ดินรวม 3 แปลง แปลงแรกคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 655 ของจำเลยที่ 2 แปลงที่ 2 คืนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 654 ของจำเลยที่ 1 และแปลงที่ 3 คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 74 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 4430) ของนางโกสนออกสู่ทางสาธารณะโจทก์จึงปรับปรุงและใช้เส้นทางเส้นใหม่นี้ซึ่งมีความกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 454.30 เมตร และใช้ทางดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านต่อมาปลายปี 2542 โจทก์ต้องการปรับปรุงทางเข้าออกดังกล่าวเพราะมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นหลุมเป็นบ่อไม่สะดวกในการสัญจรในช่วงฤดูฝน โดยโจทก์จะออกค่าใช้จ่ายเอง จึงได้เจรจากับจำเลยทั้งสองและนางโกสน นางโกสนให้ความยินยอม แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอม และทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและทางภาระจำยอม ให้จำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์ทำทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและ/หรือทางภาระจำยอมแก่ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 89 ของโจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่กระทำให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์และบริวารไม่เคยใช้เส้นทางเข้าออกหรือใช้รถยนต์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ใช้เส้นทางผ่านที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 73 ของนางต้านเพื่อออกสู่ทางสาธารณะสายมวกเหล็ก-คำพราน ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4 ที่โจทก์อ้างว่าเคยใช้เส้นทางผ่านที่ดินดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฏในแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 คงปรากฏแต่ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ดิน 24 ซึ่งปัจจุบันนายเกษม และนางสมหวังเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้ แต่ได้ทำคันบ่อเลี้ยงปลาให้โจทก์และบริวารสัญจรผ่านไปมาได้ โจทก์จึงสามารถใช้ทางดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะได้ ก่อนฟ้องโจทก์ได้ปลอมแปลงเอกสารภาพถ่ายทางอากาศ แสดงว่ามีทางสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ที่ดินของโจทก์ นำไปร้องเรียนต่อนายอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี 2 ครั้ง ซึ่งทางราชการได้ตรวจสอบหลักฐานทางที่ดินและข้อเท็จจริงแล้วสรุปว่าไม่มีทางสาธารณะตามที่โจกท์อ้าง โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และคำฟ้องของโจทก์รวมทั้งคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองยินยอมให้ทำทางออกสู่ทางสาธารณะโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นและภาระจำยอม และได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยมาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น จำเลยทั้งสองไม่สามารถให้การต่อสู้ได้ถูกต้อง เพราะข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสามข้อมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่องค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ทำให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถเข้าใจหลักแห่งข้อหาและสภาพข้อกล่าวหาของโจทก์ได้ คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 655 ตำบลคำพราน อำเภอมวกเหล็ก (วังม่วง) จังหวัดสระบุรี ของจำเลยที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจากทิศเหนือตรงลงมาทางทิศใต้ความกว้าง 3 เมตร ตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 โดยให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนเพื่อความเสียหายในการใช้ทางจำเป็นแก่จำเลยที่ 2 ปีละ 1,000 บาท และให้โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 654 ตำบลคำพราน อำเภอมวกเหล็ก (วังม่วง) จังหวัดสระบุรีของจำเลยที่ 1 ทางด้านทิศใต้เริ่มจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออกถึงรอยต่อระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 1 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ดิน 5 ความกว้าง 3 เมตร ตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 และให้โจทก์ทำทางตามที่จำเป็นโดยให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของจำเลยทั้งสองน้อยที่สุด ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภาระจำยอมทางพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 654 ตำบลคำพราน อำเภอมวกเหล็ก (วังม่วง) จังหวัดสระบุรี ของจำเลยที่ 1 กว้าง 3 เมตร ตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 เป็นทางจำเป็น ให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนเพื่อความเสียหายในการใช้ทางจำเป็นแก่จำเลยที่ 1 ปีละ 1,200 บาท และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 89 ตำบลคำพราน อำเภอมวกเหล็ก (วังม่วง) จังหวัดสระบุรี จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 654 และจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 655 ตำบลคำพราน อำเภอมวกเหล็ก (วังม่วง) จังหวัดสระบุรี ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินของโจทก์ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 และแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสองและที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทตามเส้นสีน้ำตาลในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ และโจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยที่ 2 ตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 แต่ทางดังกล่าวในที่ดินของจำเลยที่ 2 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ทางพิพาทตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่อย่างใด ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จะมีสิทธิผ่านทางตามเส้นสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ในที่ดินของจำเลยทั้งสองไปสู่ทางสาธารณะได้ หรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เส้นทางสีฟ้าตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4 เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุดสำหรับโจทก์เพราะเป็นเส้นทางหลวงแผ่นดินซึ่งใหญ่กว่าทางสาธารณะที่โจทก์ใช้ทางออกตามเส้นสีน้ำตาล ในข้อนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้…” โจทก์บรรยายฟ้องว่าทางตามเส้นสีฟ้ามีความยาว 554.85 เมตร ส่วนทางตามเส้นสีน้ำตาลมีความยาวประมาณ 454.30 เมตร จำเลยทั้งสองมิได้ให้การเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เส้นทางสีฟ้ามีความยาวมากกว่าเส้นทางสีน้ำตาล ดังนี้ แม้เส้นทางสีฟ้าจะเป็นทางตรงแต่มีความยาวมากกว่าถึงประมาณ 100 เมตร ย่อมทำให้เสียหายแก่เจ้าของที่ดินมากกว่าเส้นทางสีน้ำตาล ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองที่ล้อมอยู่โดยใช้เส้นทางสีน้ำตาลในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้อง ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของจำเลยทั้งสองและของบุคคลอื่นปิดล้อมอยู่ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาให้เกิดทางภาระจำยอมมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อปลายปี 2542 จำเลยทั้งสองนำรถไถทางพิพาททำเป็นไร่อ้อย โจทก์และบริวารจึงไม่มีทางเข้าออกสู้ทางสาธารณะเนื่องจากที่ดินของโจทก์ถูกปิดล้อมโดยที่ดินของจำเลยทั้งสองและของบุคคลอื่น การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิในทางจำเป็นและทางภาระจำยอมของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและทางภาระจำยอม เช่นนี้ เห็นได้ว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ ทางพิพาทอาจเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอมหรือทั้งสองอย่างขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองสามารถให้การต่อสู้คดีได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์เคยเสนอหลักฐานเท็จว่ามีทางสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองเพราะต้องการขายที่ดินของโจทก์ แต่ขายที่ดินของโจทก์ แต่ขายไม่ได้เพราะไม่มีทางออก เมื่อทางราชการตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริงดังโจทก์อ้าง โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดเพราะเมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมอยู่จนไม่ทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ปิดล้อมอยู่นั้นเปิดทาง เพื่อให้โจทก์เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 กำหนดไว้อันเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share