คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วจำเลยที่1ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่างๆต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมายภายในของวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่1ดั่งมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา69เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้และตามมาตรา75เดิมบัญญัติว่าอันความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงปรากฎจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้นเมื่อจำเลยที่2และที่4เป็นกรรมการของจำเลยที่1จึงเป็นผู้แทนที่ดำเนินการหรือแสดงความประสงค์ของจำเลยที่1การที่จำเลยที่2ในฐานะกรรมการของจำเลยที่1ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างหรือจำเลยที่4ในฐานะกรรมการของจำเลยที่1มอบหมายให้จำเลยที่3ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่4ในสัญญาว่าจ้างโจทก์ก็ดีก็เป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่1ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเลยที่1ได้รับผลงานจากการจ้างที่จำเลยที่2และที่4ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ว่าจ้างก็ดีลงลายมือชื่อในเอกสารยอมรับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ดีหรือจำเลยที่4ลงลายมือชื่อรับรองยอดหนี้ของจำเลยที่1ก็ดีตลอดจนที่จำเลยที่4ลงลายมือชื่อรับมอบงวดงานตามเอกสารต่างๆก็ดีแม้มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่1ก็พึงเห็นได้ว่าจำเลยที่2และที่4กระทำการในฐานะเป็นกรรมการหรือผู้แทนของจำเลยที่1นั่นเองและแม้ทุนจดทะเบียนของจำเลยที่1จะมีน้อยกว่าการงานที่จำเลยที่1ว่าจ้างโจทก์แต่ก็ได้ความว่าหากขาดเงินทุนหมุนเวียนจำเลยที่1ก็จะไปขอสินเชื่อจากธนาคารนอกจากนี้ตามสัญญาว่าจ้างจำเลยที่1เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่2และที่4ว่าจ้างโจทก์ในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่2และที่4ว่าจ้างโจทก์ในฐานะส่วนตัวด้วยจำเลยที่2และที่4ซี่งเป็นกรรมการของจำเลยที่1จึงหาจำต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่1ต่อโจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีจำเลยที่ 2และที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม2530 ถึงเดือนสิงหาคม 2531 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันตกลงว่าจ้างโจทก์เพื่อประกอบและติดตั้งระบบส่งจ่ายลมเย็นและระบบอื่น ๆ เพิ่มเติมภายในโรงงานของบริษัทเอทีแอนด์ทีไมโครอีเล็คโทรนิคส์ (ไทย) จำกัดโจทก์ได้ทำงานตามที่จำเลยทั้งสี่ว่าจ้างเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบงานให้แก่จำเลยทั้งสี่แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน คงค้างชำระอีกจำนวน 1,254,182.40 บาท โจทก์ทวงถามแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน1,254,152.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ทำงานตามฟ้องแต่โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องว่าจ้างบริษัทอื่นมาทำงานแทนในบางรายการ ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 คงค้างชำระค่าจ้างเป็นเงินเพียง 237,768 บาท เนื่องจากโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์จะต้องชำระค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาอัตราวันละ 30,600 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่24 มกราคม 2533 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกการจ้างจากจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์จะต้องรับผิดชำระค่าจ้างผู้ตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมงานอัตราวันละ 1,000 บาท อีกด้วย แต่จำเลยที่ 1ขอเรียกค่าปรับและค่าจ้างผู้ตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมงานถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2531 รวมเวลา 150 วัน เท่านั้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,740,000 บาท เนื่องจากโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงยึดหน่วงไม่ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระโจทก์จำนวน 237,768 บาท ไว้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างโจทก์ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างโจทก์ก็ทำในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ส่วนการที่จำเลยที่ 3และที่ 4 เข้ารับมอบงานแทนโจทก์ก็ทำไปในฐานะเป็นผู้จัดการโครงการและผู้ควบคุมงานเท่านั้น เมื่อโจทก์ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว และจำเลยอื่นได้ชำระค่าจ้างบางส่วนให้แก่โจทก์ไปแล้วเช่นนี้ จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการก็จะต้องรับผิดชำระค่าจ้างที่ค้างให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างต่อโจทก์แต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,254,182.40 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์คงฎีกาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 จำเลยที่ 1ว่าจ้างโจทก์ประกอบและติดตั้งระบบส่งจ่ายลมเย็นภายในโรงงานของบริษัทเอทีแอนด์ทีไมโครอีเล็คโทรนิคส์ (ไทย) จำกัด โดยจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลามือชื่อในช่องผู้ว่าจ้างแทนจำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาได้ทำสัญญาจ้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง โจทก์ทำงานตามสัญญาจ้างและส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว โดยการส่งมอบงานแต่ละครั้งมีจำเลยที่ 4เป็นผู้ลงลายมือชื่อตรวจรับมอบงานจากโจทก์
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมาย ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 ดั่งมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เดิม บัญญัติว่า อันความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงปรากฎจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้แทนที่ดำเนินการหรือแสดงความประสงค์ของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างหรือจำเลยที่ 4 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 3ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 4 ในสัญญาว่าจ้างโจทก์ก็ดีก็เป็นการกระทำในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1ได้รับผลงานจากการจ้าง ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ก็ดี ลงลายมือชื่อในเอกสารยอมรับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ดี หรือจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับรองยอดหนี้ของจำเลยที่ 1ก็ดี ตลอดจนที่จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับมอบงวดงานตามเอกสารต่าง ๆที่โจทก์อ้างมาในฎีกาก็ดี แม้มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 ก็พึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทำการในฐานะเป็นกรรมการหรือผู้แทนของจำเลยที่ 1 นั่นเอง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ได้โดยตนเอง เว้นแต่กรรมการหรือผู้แทนทำการแทนดังกล่าวแล้วเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1มีเพียง 1,000,000 บาท แต่การงานที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์เป็นเงินมากกว่าทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 4จะนำเงินส่วนตัวมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการของจำเลยที่ 1แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นก็ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 เบิกความว่า หากขาดเงินทุนหมุนเวียนจำเลยที่ 1 ก็จะไปขอสินเชื่อจากธนาคาร นอกจากนี้ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ ไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่าจ้างโจทก์ในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share