แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิม จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ร. ตามคำพิพากษา โจทก์เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาคดีถึงที่สุดร. ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3ผู้รับมอบอำนาจได้ร้องขัดทรัพย์ที่ยึดของจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 ซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยมีหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีมูลกรณีจะเป็นเอกสารผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ถอนคำร้องขัดทรัพย์ และร. ได้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แม้หนังสือสัญญาซื้อขายนั้นอันเป็นเอกสารเท็จ แต่จำเลยยังไม่ทันได้อ้างต่อศาลในการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ ทั้งในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น โจทก์หาได้เป็นคู่ความด้วยไม่ โจทก์จึงยังไม่ได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 180 ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 103/2496)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันร้องเท็จต่อศาล และร่วมกันทำเอกสารสัญญาซื้อขายทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดในคดีแพ่งแดงที่ ๙๕/๒๕๑๐ อันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๘๐, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘
ศาลชั้นต้นไต่สวน คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว ซึ่งฟังได้เป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้นายเรือง อุ่นเรือน ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๕/๒๕๑๐ แต่ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยร้องขอทุเลาการบังคับศาลอุทธรณ์อนุญาตโดยให้หาหลักประกัน โจทก์คดีนี้จึงได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อคดีนั้นถึงที่สุด จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี นายเรือง อุ่นเรือน โจทก์ในคดีนั้นขอบังคับคดีโจทก์ได้พาจำเลยที่ ๑ ไปพบจำเลยที่ ๓ ให้ทำคำร้องขอขยายเวลาชำระหนี้ตามคำบังคับมีกำหนด ๑๕๐ วัน ศาลจังหวัดศรีสะเกษไม่อนุญาต นายเรืองจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในคดีนั้น และของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ แต่ยังไม่ได้ประกาศขายจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ผู้รับมอบอำนาจ ได้ร้องขัดทรัพย์ที่ยึดของจำเลยที่ ๑ อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ ๒ โดยซื้อจากจำเลยที่ ๑ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๙ มีหนังสือสัญญาซื้อขายกัน ก่อนนายเรืองอุ่นเรือน โจทก์ในคดีนั้นจะยื่นคำให้การแก้คดี และมีการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์นั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ขอถอนคำร้องขัดทรัพย์ และศาลจังหวัดศรีสะเกษสั่งอนุญาตไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓โดยผู้ร้องขัดทรัพย์คือจำเลยยังไม่ทันได้อ้างหนังสือสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.๑ ในคดีดังกล่าวนั้นเลย และในวันเดียวกัน นายเรืองอุ่นเรือนโจทก์ผู้นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว ก็ร้องขอถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว ศาลจังหวัดศรีสะเกษก็มีคำสั่งอนุญาตเช่นเดียวกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารสัญญาซื้อขายหมาย ล.๑ ที่จำเลยร่วมกันทำขึ้นเป็นเอกสารเท็จ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ และโจทก์เป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งสมคบกันกระทำการอันเป็นเท็จต่อศาลได้นั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถึงแม้จะฟังว่าเอกสารสัญญาซื้อขายหมาย ล.๑อันเป็นเอกสารมูลกรณีคดีนี้ เป็นเอกสารเท็จก็ตาม แต่ได้ความว่า จำเลยยังไม่ทันได้นำเอกสารหมาย ล.๑ นั้นมาอ้างต่อศาลในการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวนั้นแต่อย่างใด ทั้งในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น โจทก์ในคดีนี้ก็หาได้เป็นคู่ความในคดีด้วยไม่เห็นได้ชัดว่า โจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหาย ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๐ ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๓/๒๔๙๖
พิพากษายืน