แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนข้าวสาร 10 เปอร์เซ็นต์ และปลายข้าวเอวันเลิศหรือใช้ราคา 5,188,918.52 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคหนึ่ง) ประกอบมาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองคืนข้าวสาร 10 เปอร์เซ็นต์ และปลายข้าวเอวันเลิศตามฟ้องหรือใช้ราคา 5,188,918.52 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลสูงภาค 9 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลสูงภาค 9 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหาย กำหนดให้ผู้ประสานงานจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบและรายงานผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ต้องตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้ให้มีปริมาณครบถ้วน หากพบสินค้าสูญหายต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น เมื่อบันทึกการตรวจโรงสีฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 มีนายพงษ์พัฒน์ เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายประจำโรงสีลงชื่อ ย่อมร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ที่ข้าวสารตามฟ้องหายไปจากโรงสี เป็นเรื่องเร่งด่วนอันจำเป็นต้องรายงานให้ผู้เสียหายทราบทันที ผู้เสียหายจึงรู้เรื่องความผิดก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งผู้เสียหายทราบเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ในทำนองให้เข้าใจว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 แต่ผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เกินสามเดือนจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัย แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้น ผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของผู้เสียหายคือผู้อำนวยการ ส่วนนายพงษ์พัฒน์เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ประสานงานของผู้เสียหาย แม้จะฟังว่านายพงษ์พัฒน์ทราบเหตุที่ข้าวสารตามฟ้องสูญหาย ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น นายพงษ์พัฒน์ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือฟ้องคดี จึงไม่อาจถือได้ว่านายพงษ์พัฒน์เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดียังมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาตามประเด็นที่คู่ความอุทธรณ์ตามลำดับชั้นศาลให้ครบถ้วนต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป