แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้จำคุกจำเลย 3 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุกจำเลย 3 ปี ไม่เพิ่มโทษลดให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และแก้ว่า จำเลยไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่ผู้เสียหาย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขข้อที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย และไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเท่านั้นไม่ใช่เป็นการแก้บทเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วกลับมากระทำผิดอีกภายในกำหนด ๕ ปีขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗,๘๓ และ ๙๒ ให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีที่จำเลยต้องโทษอยู่ กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าได้ไปกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และนายสนิทที่โรงรับจำนำแห่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองบอกให้จำเลยที่ ๑ จำนำเครื่องคิดเลข จำเลยทำตามโดยไม่รู้ว่าเป็นของคนร้ายลักมา จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จำเลยที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำผิดฐานรับของโจรจริง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗, ๘๓ ให้จำคุกคนละ ๓ ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๙๒ คงจำคุกคนละ ๔ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๑ กำหนด ๒ ปี ๘ เดือน จำเลยที่ ๒ ลดให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกไว้ ๒ ปี ให้นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากคดีแดงที่ ๒๔๒๑/๒๕๑๐ จำเลยที่ ๒ต่อจากคดีแดงที่ ๒๖๐๑/๒๕๑๐ ของศาลอาญา ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้ยกฟ้องกับให้จำเลยที่ ๑, ๒ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยที่ ๑ ผู้เดียวอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกระทำผิดฐานรับของโจรแต่ข้อที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ฐานไม่เข็ดหลาบ ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ไปแล้วนั้น ตามสำนวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ให้การรับในข้อต้องโทษ และโจทก์ก็มิได้นำพยานบุคคลสืบประกอบประวัติอาชญากร เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ แม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ กับข้อที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายด้วยนั้นปรากฏตามทางพิจารณาว่า ผู้เสียหายได้ของกลางคืนไปแล้ว ไม่ควรจะต้องให้จำเลยคืนหรือใช้ทรัพย์อีก จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๓ ปี โดยไม่เพิ่มโทษคำให้การของจำเลยมีประโยชน์ในทางพิจารณาลดให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒ ปี และแก้ว่าจำเลยไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง และโจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ ๑ เพราะเห็นว่าศาลอุทธรณ์แก้บทลงโทษ เป็นการแก้มาก
ศาลฎีกาเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นเพียงแต่แก้ไขในข้อที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย และไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการแก้บทเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาคดีในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาเถียงข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำผิดและฎีกาของโจทก์เถียงว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาที่จำเลยรับว่าจำเลยเคยให้การรับชั้นสอบสวนและมีรายงานประวัติอาชญากรประกอบควรฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษมาแล้วตามฟ้องก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ฉะนั้นฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ ๑จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ให้
จึงพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์และจำเลยที่ ๑.