คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า คำฟ้องโจทก์ซึ่งกล่าวถึงสภาพข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาโอนสิทธิเช่าซื้อ แต่คำขอบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์สิ่งใดทำให้ไม่อาจสู้คดีได้ถูกต้อง คำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้บรรยายให้เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ส่วนใดเคลือบคลุมหรือไม่ชัดแจ้งอย่างไร หรือเนื้อหาในคำฟ้องขัดแย้งกันอย่างไร ซึ่งอ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้ ถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยจำเลยผู้ขายยอมให้โจทก์ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาและมีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อโจทก์ผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงราคากันตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป แม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่หากได้มีการวางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วคู่กรณีก็ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อจำเลยตกลงขายรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในราคา 200,000 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระแล้วเป็นเงิน 95,000 จึงถือว่าโจทก์ได้วางประจำและชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้
โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย ย่อมทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อโจทก์ได้มอบรถยนต์พิพาทคืนแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับมาแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าซื้อรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 8 พ-0660 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทสยามกลการ จำกัด ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะโอนสิทธิเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องจ่ายเงิน 70,000 บาท ให้แก่จำเลยก่อน และโจทก์ต้องใช้รถยนต์คันดังกล่าวขนถ้วยแก้วให้จำเลย โดยจำเลยจะจ่ายค่าจ้างเที่ยวละ 3,000 – 3,500 บาท และจะหักค่าจ้างโจทก์ไว้เที่ยวละ 1,800 บาท พร้อมกับให้โจทก์มอบเงินค่างวดเช่าซื้อเดือนละ 7,000 บาท แก่จำเลย แล้วจำเลยนำไปรวมกับเงินที่หักจากค่าจ้างโจทก์เพื่อจ่ายค่างวดเช่าซื้อแก่ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์ได้จ่ายเงินให้จำเลยโดยฝากเข้าบัญชีของจำเลย 70,000 บาท จำเลยหักค่าเช่าโจทก์เที่ยวละ 1,800 บาท รวม 58 เที่ยว เป็นเงิน 104,400 บาท และโจทก์ส่งเงินค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลย 49,000 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิเช่าซื้อรถยนต์แก่โจทก์แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาจำเลยยึดรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ โจทก์จึงขอเงินที่ได้จ่ายให้แก่จำเลย รวมทั้งค่าจ้างที่จำเลยหักจากโจทก์และค่าเช่าซื้อที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยเป็นเงิน 223,400 บาท คืน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 223,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 8 พ-0660 กรุงเทพมหานคร แต่นางสาวศิริอร สืบตระกูล พี่สาวจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อ และจำเลยไม่เคยตกลงจะโอนสิทธิเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์เพราะเป็นการพ้นวิสัยสัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวในราคา 200,000 บาท ตกลงให้โจทก์ผ่อนชำระโดยการหักค่าจ้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าเที่ยวละ 1,800 บาท รวม 110 งวดกับเที่ยวสุดท้ายอีก 2,000 บาท และจำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยหักค่าจ้างโจทก์รวม 55 เที่ยว เป็นเงิน 95,000 บาท แต่จำเลยไม่เคยรับเงิน 70,000 บาท และเงินค่างวดจำนวน 49,000 บาท จากโจทก์ โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยโอนสิทธิในรถยนต์พิพาท โจทก์ชำระค่างวดไม่ครบ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายส่งมอบคืนรถยนต์พิพาทเอง จำเลยจึงยอมเลิกสัญญาและคืนเงินที่รับมาแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 มกราคม 2544) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลให้ 3,000 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 290 บาท แก่โจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย โดยเห็นสมควรหยิบยกปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมขึ้นวินิจฉัยก่อน ซึ่งข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า คำฟ้องโจทก์ซึ่งกล่าวถึงสภาพข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาโอนสิทธิเช่าซื้อ แต่คำขอบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์สิ่งใดทำให้ไม่อาจสู้คดีได้ถูกต้อง เห็นว่า คำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้บรรยายให้เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ส่วนใดเคลือบคลุมหรือไม่ชัดแจ้งอย่างใด หรือเนื้อหาในคำฟ้องขัดแย้งกันอย่างไร ซึ่งอ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้ ถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองว่าโจทก์จำเลยตกลงจะโอนสิทธิเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกัน โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องจ่ายเงินให้จำเลย 70,000 บาท ก่อนแล้วจำเลยจะดำเนินการโอนสิทธิเช่าซื้อให้แก่โจทก์และมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์เป็นผู้ครอบครองและส่งสินค้าให้แก่จำเลย โดยจำเลยจะหักค่าจ้างไว้เที่ยวละ 1,800 บาท และโจทก์ต้องมอบเงินค่าเช่าซื้ออีกเดือนละ 7,000 บาท ให้จำเลยเพื่อจำเลยจะได้นำไปชำระเป็นค่าเช่าซื้อแก่บริษัทสยามกลการ จำกัด แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์กลับนำสืบผิดเพี้ยนไปว่า โจทก์ตกลงเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาท ซึ่งจำเลยเช่าซื้อมาจากบริษัทสยามกลการ จำกัด จากจำเลยในราคา 200,000 บาท โดยโจทก์ได้วางเงินดาวน์ให้จำเลย 70,000 บาท และจะต้องผ่อนชำระค่างวดรถอีกเดือนละ 7,000 บาท ทั้งจะมีการหักเงินค่าจ้างขนส่งสินค้าเที่ยวละ 1,800 บาทด้วย เพื่อให้จำเลยนำไปชำระแก่บริษัทสยามกลการ จำกัด ส่วนจำเลยให้การว่าไม่เคยตกลงที่จะโอนสิทธิเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทให้โจทก์เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว แต่โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายรถยนต์พิพาทกันในราคา 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องผ่อนชำระโดยการหักค่าจ้างที่จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ขนสินค้าเที่ยวละ 1,800 บาท รวม 110 งวด และงวดสุดท้ายชำระอีก 2,000 บาทโดยในวันตกลงทำสัญญานั้นจำเลยได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ครอบครองเรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการหักค่าจ้างของโจทก์ไว้เที่ยวละ 1,800 บาท รวม 55 งวด รวมเป็นเงิน 95,000 บาท โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันโดยมีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ต่อเมื่อโจทก์ผ่อนชำระค่างวดให้จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ชำระค่างวดไม่ครบตามข้อตกลง โดยในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบไปตามที่กล่าวอ้างในคำให้การดังกล่าว เห็นว่า โจทก์จำเลยมิได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ ทั้งปรากฏหลักฐานตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 และสำเนาหนังสือบอกกล่าวสอบถามเอกสารหมาย ล.4 ว่านางสาวศิริอร สืบตระกูล เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัทซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หาใช่จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรถพิพาทมาให้โจทก์เช่าซื้อต่อและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเอารถยนต์พิพาทออกให้โจทก์เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายรถยนต์พิพาทหรือให้รถยนต์พิพาทตกเป็นสิทธิแก่โจทก์โดยเงื่อนไขที่โจทก์ได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่ใช่เป็นการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการตกลงซื้อขายรถยนต์พิพาท โดยจำเลยผู้ขายยอมให้โจทก์ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาและมีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อโจทก์ผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงราคากันตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป แม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่หากได้มีการวางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วคู่กรณีย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม จำเลยรับว่าได้ตกลงขายรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในราคา 200,000 บาท โดยให้โจทก์ผ่อนชำระค่างวดเป็นเงินงวดละ 1,800 บาท และโจทก์ได้ผ่อนชำระแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 95,000 บาท จึงถือว่าโจทก์ได้วางประจำและชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้ จำเลยนำสืบได้ความทำนองเดียวกับที่อ้างในคำให้การว่า โจทก์ชำระค่างวดไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทมาคืน โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยว่าไม่สามารถทำงานที่ตกลงจ้างให้ได้อีกและไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ จำเลยจึงตกลงให้เลิกสัญญากันโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย และในวันเลิกสัญญาโจทก์ก็ได้นำรถยนต์พิพาทมาคืนแก่จำเลยแล้ว โดยจำเลยได้คืนเงินที่รับมาแก่โจทก์ด้วย เห็นว่า การที่โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาชื้อขายรถยนต์พิพาทกันโดยสมัครใจทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้มอบรถยนต์พิพาท คืนแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับมาแก่โจทก์ปรากฏว่าโจทก์มีหลักฐานสำเนาใบนำฝากบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.1 มาแสดงว่าได้โอนเงินจำนวน 70,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 ซึ่งตามใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดของจำเลย เอกสารหมาย ล.6 ก็ปรากฏชัดว่าในวันดังกล่าวมีเงินจำนวน 70,000บาท เข้าบัญชีของจำเลยจริง จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินจำนวน 70,000 บาท จากโจทก์ไว้แล้วจริง นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบรับว่า โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินให้จำเลยแล้ว 55 งวด รวมเป็นเงิน 95,000 บาท ตามสำเนาบันทึกค่ารถคงค้างเอกสารหมาย ล.5 จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินจำนวน 95,000 บาท จากโจทก์อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้ชำระเงินค่างวดสำหรับชำระเป็นค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทให้จำเลยอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงิน 49,000 บาทนั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันในข้อนี้ และจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้รับ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนนี้จากโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์รวม 165,000 บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้นคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share