คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างบริษัทเงินทุนโจทก์กับจำเลยในข้อ 3 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ผู้กู้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี และวรรคสองระบุว่า อัตราดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้กู้มีสิทธิเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้อันเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิดำเนินการตามข้อ 8 และข้อ 8 ระบุว่าในกรณีที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดที่ผู้ให้กู้ได้มีประกาศกำหนดให้เรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาข้อตกลงตามข้อ 7 และข้อ 8 มีลักษณะเป็นการกำหนดเพื่อทดแทนค่าเสียหายของโจทก์ล่วงหน้าสำหรับกรณีเมื่อจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาที่ไม่ผ่อนชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีปกติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 วรรคสอง
จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ของหนี้ที่เป็นประกัน การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในหนี้ที่มีจำนองนั้นเป็นประกันในอัตราเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับหนี้ที่จำนองนั้นเป็นประกันหรือหนี้ประธาน โจทก์จึงไม่อาจนำอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองมาใช้เรียกจำเลยได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เพียงแต่กำหนดให้ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน แต่การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเบี้ยปรับให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามปกติที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามสัญญาคืออัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี จึงมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหาได้มีผลเป็นการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไม่ โจทก์ยังมีหน้าที่ที่จะนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดตามฟ้องได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายด้วยและศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระจากจำเลยได้ตามกฎหมายเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 340,000 บาท และได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยตกลงว่าจะชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า จะผ่อนชำระแก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกวันที่ 19 ของทุกเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,200 บาท เริ่มผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 19 สิงหาคม 2539 จนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดเสร็จสิ้น หากผิดนัดผิดสัญญายอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา จำเลยตกลงชำระเบี้ยประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์โดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ หากจำเลยไม่จัดการเอาประกันภัย จำเลยยอมให้โจทก์จัดการเอาประกันและจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายไป จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 102713 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนองประกันการชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 340,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระยังขาดอยู่เท่าใด ยินยอมรับผิดใช้เงินส่วนขาดอยู่ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน หลังจากนั้น จำเลยได้ผ่อนชำระต้นเงินบางส่วนและดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นครั้งคราวและไม่ตรงตามจำนวนและตามงวดที่ตกลงไว้ในสัญญา โดยครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 จำนวน 5,200 บาท ภาระต้นเงินที่ค้างชำระ ณ วันดังกล่าวเป็นเงิน 326,295.58 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระอีก 83,795.99 บาท อันเป็นการผิดนัดผิดสัญญา และยังไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้ชำระไป 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2543 และวันที่ 27 กันยายน 2545 จำนวน 798.22 บาท และ 702.99 บาท ตามลำดับ โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยและไถ่ถอนจำนองแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดหนี้เงินกู้ดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าว กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 จนถึงวันฟ้องจำนวน 249,119.97 บาท และเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,501.21 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 660,712.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 660,712.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 326,295.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์ที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 102713 ตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 410,091.57 บาท และค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,501.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 326,295.58 บาท นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 102713 ตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ที่โจทก์เรียกจากจำเลยนับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยเอกสารหมาย จ.7 กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ผู้กู้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี และวรรคสอง ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้กู้มีสิทธิเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้น หรือต่ำลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิดำเนินการตามข้อ 8 และข้อ 8 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดที่ผู้ให้กู้ในฐานะบริษัทเงินทุนได้ประกาศกำหนดให้เรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ในขณะทำสัญญานี้ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 21 ต่อปี แต่ต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามประกาศของผู้ให้กู้) นับตั้งแต่วันที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดเสร็จสิ้น เมื่อมีข้อเท็จจริงฟังเป็นข้อยุติว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 จำนวน 5,200 บาท คงเหลือภาระหนี้ต้นเงินค้างในวันดังกล่าวเป็นเงิน 326,295.58 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระอีก 83,795.99 บาท และโจทก์ถือว่าจำเลยผิดนัดผิดสัญญา หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 โจทก์จึงคิดเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 7 และข้อ 8 เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 7 และข้อ 8 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าได้อาศัยเป็นเหตุคิดอัตราดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีนั้น เห็นได้ชัดว่ามีลักษณะเป็นการกำหนดเพื่อทดแทนค่าเสียหายของโจทก์ล่วงหน้าสำหรับกรณีเมื่อจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาที่ไม่ผ่อนชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ใช้สิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีปกติโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ทราบล่วงหน้าตามที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เงินข้อ 3 วรรคสอง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ยังเป็นการเรียกตามสิทธิที่โจทก์มีสิทธิตามหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 นั้น เห็นว่า จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ของหนี้ที่เป็นประกัน การที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในหนี้ที่มีจำนองนั้นเป็นประกันในอัตราเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับหนี้ที่มีจำนองนั้นเป็นประกันหรือหนี้ประธาน โจทก์จึงไม่อาจนำอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองมาใช้เรียกจากจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 7 และข้อ 8 มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตามปกติที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาในกรณีที่ไม่ผิดนัดเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เพียงแต่กำหนดให้ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน แต่การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเบี้ยปรับให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามปกติที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามสัญญาคืออัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี จึงมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว และศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับใหม่ไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์แล้วเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเท่ากับจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ศาลควรพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินและดอดเบี้ยตามฟ้องคืนให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหาได้มีผลเป็นการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไม่ โจทก์ยังมีหน้าที่ที่จะนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดตามฟ้องได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย และศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระจากจำเลยได้ตามกฎหมายเท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share