คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6002/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ตกลงกับโจทก์จะระบุว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไว้แล้วมิได้นำส่งให้โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 446,855.47 บาท ขอยอมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์ และขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์โดยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้รวม 6 งวด งวดแรกชำระในวันรุ่งขึ้น ส่วนที่เหลือชำระในเดือนต่อ ๆ ไป โดยไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่จะตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ตามสัญญาตัวแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 485,955.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 446,855.47 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 300,000 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 485,955.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 446,855.47 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.5 โดยโจทก์แต่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่ชักชวนลูกค้ามาทำสัญญาประกันวินาศภัยและรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าผู้เอาประกันภัยนำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หากจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์เกี่ยวกับการเป็นตัวแทน จำเลยที่ 2 ยอมร่วมรับผิดในวงเงิน 300,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2542 ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 1 เก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าผู้เอาประกันภัยจำนวน 33 ราย เป็นเงินรวม 446,855.47 บาท แล้วไม่นำส่งมอบให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2543 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 ตกลงเข้าเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยอมร่วมกันรับผิดชดใช้เงิน 446,855.47 บาท แก่โจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ข้อความที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ตกลงกับโจทก์จะระบุว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ได้เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไว้แล้วมิได้นำส่งให้โจทก์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 446,855.47 บาท ขอยอมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์ และขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์โดยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้รวม 6 งวด งวดแรกชำระในวันรุ่งขึ้น ส่วนที่เหลือชำระในเดือนต่อ ๆ ไป โดยไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่จะตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ข้กตกลงดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้หนี้ตามสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 852 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ตามสัญญาตัวแทน ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้คิดในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีต่อจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share