แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ปั๊มน้ำมันแต่ไม่ถูกผู้ใด เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 หลบหนีจำเลยทั้งสามติดตามไปไล่ยิงผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จนถึงหน้าโรงแรม อันเป็นการส่อให้เห็นเจตนามุ่งมั่นที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันจากที่เกิดเหตุจุดแรกไปยังที่เกิดเหตุจุดที่สอง เมื่อกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กระทงหนึ่ง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามยังย้อนกลับไปยิงพวกของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โรงแรมอีกจนกระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 4 โดยพลาดอีกกระทงหนึ่ง รวมเป็นความผิด 2 กระทง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2546 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามกับพวกอีกหนึ่งคนซึ่งเป็นเยาวชนได้แยกไปดำเนินคดีต่างหากได้ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนพกประกอบขึ้นเองขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก ไม่มีหมายเลขทะเบียนและกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดจำนวนหลายนัด ใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์ ถนนดีบุก และบริเวณโรงแรมภูเก็ตมนตรีรีโซเทล ตำบลตลาดใหญ่ ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงนายฤทธิ์หรือลิตร ดาสันทัด ผู้เสียหายที่ 1 นายอภิชาติ การะเกตุ ผู้เสียหายที่ 2 นายธีรศักดิ์ ส่งเกียรติวงศ์ ผู้เสียหายที่ 3 และผู้มีชื่อซึ่งเป็นพวกของผู้เสียหายทั้งสามอีกหลายคน 1 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสามกับพวกหลบหนีได้ทัน กระสุนปืนจึงไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสามกับพวก หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 แล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงโดยเจตนาฆ่า 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่บริเวณศีรษะ ไหล่ซ้าย นิ้วมือซ้าย สีข้างด้านซ้าย ที่สะโพกและขาด้านซ้าย ถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณลำคอ สีข้างด้านซ้ายและบริเวณแขนกับขาด้านซ้าย แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนถูกที่อวัยวะไม่สำคัญ และแพทย์ทำการรักษาได้ทันท่วงที ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ถึงแก่ความตาย แต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสามกับพวกได้กระทำความผิดดังกล่าวและร่วมกันหลบหนีไปแล้ว จำเลยทั้งสามกับพวกได้หวนกลับมายังที่เกิดเหตุอีกและร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงผู้มีชื่อซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดโดยแน่ชัด และเป็นพวกของผู้เสียหายทั้งสาม 1 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้มีชื่อดังกล่าวหลบหนีไปทันจึงไม่ถึงแก่ความตายแต่กระสุนปืนถูกนายวัชระ คล้ายสุวรรณ ผู้เสียหายที่ 4 ที่บริเวณลูกอัณฑะโดยพลาด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 60, 80, 83, 91, 92, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 30 ปี รวมจำคุกคนละ 31 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 41 ปี 12 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 15 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 20 ปี 12 เดือน ริบอาวุธปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 371 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน เมื่อลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 12 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาอื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่นายฤทธิ์ ดาสันทัด ผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีนายอภิชาติ การะเกตุ ผู้เสียหายที่ 2 นั่งซ้อนท้าย ส่วนนายธีรศักดิ์ ส่งเกียรติวงศ์ ผู้เสียหายที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง โดยมีเพื่อผู้หญิงนั่งซ้อนท้ายกลับจากไปเยี่ยมญาติของผู้เสียหายที่ 3 ที่ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อมาถึงสามแยกสามกองหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ได้มีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มา 2 คัน คันแรกมีคนร้ายเป็นผู้ชายนั่งซ้อนท้ายกันมา ส่วนอีกคันหนึ่งคนร้ายผู้ชายเป็นคนขับโดยมีผู้หญิงนั่งซ้อนท้าย ขับรถปาดหน้ารถที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับ คนร้ายซึ่งเป็นผู้ชาย 2 คน ที่นั่งซ้อนท้ายกันมาได้ตะโกนร้องด่าให้อวัยวะเพศชายและด่าแม่ด้วย เมื่อผู้เสียหายทั้งสามขับรถจักรยานยนต์แวะไปจอดเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันพบกลุ่มคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ปาดหน้าจอดรถจักรยานยนต์รออยู่ ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปถามกลุ่มคนร้ายว่าขับรถปาดหน้าแล้วด่าทำไม คนร้ายคันที่ผู้ชายซ้อนท้ายชักอาวุธปืนพกออกมา คนร้ายคนที่ขับที่มีผู้หญิงซ้อนท้ายลงจากรถเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากพวกแล้วยิงปืนมายังกลุ่มผู้เสียหายทั้งสามซึ่งอยู่ห่างประมาณ 6 เมตร แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใดผู้เสียหายทั้งสามขับรถจักรยานยนต์หลบหนี โดยกลุ่มคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ตามมาจนถึงบริเวณโรงแรมภูเก็ตมนตรีรีโซเทล ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 วิ่งลงจากรถ พวกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บแล้วหลบหนีไป หลังจากนั้นพวกกลุ่มคนร้ายย้อนกลับมาที่โรงแรมอีกครั้งและใช้อาวุธปืนยิงอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งมีบ้านพักใกล้โรงแรมที่ลูกอัณฑะได้รับบาดเจ็บอีกคนหนึ่ง สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนประทับและพาอาวุธปืน จำเลยทั้งสามไม่ฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกคดีสำหรับความผิดดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสี่ต่างเบิกความว่าจำหน้าพวกคนร้ายไม่ได้ แต่โจทก์มีสิบตำรวจโทสฤษดิ์ ปานแจ่ม เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสามเบิกความว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่ามีเหตุวัยรุ่นยิงกันที่โรงแรมภูเก็ตมนตรีรีโซเทลจึงรีบไปที่เกิดเหตุทราบว่ามีผู้บาดเจ็บ 3 คน มีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งได้ตามไปสอบถามผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลไดความว่า คนร้ายมี 4 คน เป็นผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 1 คน ในกลุ่มคนร้ายมีผู้ชายชื่อ นายนวล อยู่ 1 คน ทราบชื่อภายหลังว่าชื่อนายบัญชัย ทิมรอด จากการสืบสวนพยานทราบว่านายนวลพักอยู่ที่บ้านพักกรมทรัพยากรธรณีจังหวัดภูเก็ต และในวันเกิดเหตุนั้นเองพยานกับพวกได้ไปที่บ้านพักกรมทรัพยากรธรณี จังหวัดภูเก็ต พบนายนวล คือ จำเลยที่ 3 นั่งอยู่หน้าบ้าน เมื่อเห็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 3 ได้วิ่งหลบหนีไปหลังบ้านพยานกับพวกวิ่งไล่จับกุมได้ จำเลยที่ 3 รับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่จริง โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนยิงและได้นำอาวุธปืนไปซ่อนที่บ้านจำเลยที่ 1 จึงตามไปจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่บ้านจำเลยที่ 1 พร้อมยึดอาวุธปืนและรถจักรยานยนต์ 3 คัน ที่ใช้ก่อเหตุเป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.1 พร้อมกับแจ้งข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืน และพกพาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ชั้นสอบสวนร้อยตำรวจเอกสฤษดิ์ บุตรหนองแสง พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่าได้แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสามเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.17 ตามลำดับ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 และได้ส่งอาวุธปืนของกลางไปตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นอาวุธปืนที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตร่างกายได้ตามผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.9 สิบตำรวจโทสฤษดิ์กับร้อยตำรวจเอกสฤษดิ์ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน ไม่มีเหตุผลใดจะสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสามโดยเฉพาะให้ได้รับโทษทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุกสูง เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริงที่รู้เห็นมา จะเห็นได้ว่าพยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่เกิดเหตุยิงกันแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ไปตรวจที่เกิดเหตุทันที เมื่อทราบชื่อจำเลยที่ 3 ก็ตามไปจับกุมจำเลยที่ 3 ได้จำเลยที่ 3 ก็รับสารภาพทันทีว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดจริงดังฟ้องและพาไปค้นได้อาวุธปืนของกลางที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อส่งอาวุธปืนกับลูกกระสุนปืนของกลางไปตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าลูกกระสุนปืนของกลางกับลูกกระสุนปืนที่ใช้ยิงเปรียบเทียบจากอาวุธปืนของกลางมีตำหนิรอยลายเส้นคล้ายคลึงกัน ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพพร้อมกับไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพพร้อมถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานด้วยเป็นการให้การหลังเกิดเหตุเพียงวันเดียว เชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริงเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่มีเวลาปรุงแต่งคำพยานและเมื่อจำเลยทั้งสามถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาล จำเลยทั้งสามก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ และไม่สืบหักล้างพยานโจทก์แต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาเมื่อรับฟังประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามแล้ว เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่จริง แต่ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวรวม 3 กระทงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มเสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ปั๊มน้ำมันแต่ไม่ถูกผู้ใด เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 หลบหนีจำเลยทั้งสามยังติดตามไปไล่ยิงผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จนถึงหน้าโรงแรมที่เกิดเหตุ อันเป็นการส่อให้เห็นเจตนามุ่งมั่นที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันจากที่เกิดเหตุจุดแรกไปยังที่เกิดเหตุจุดที่สอง เมื่อกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 กระทงหนึ่ง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามยังย้อนกลับไปยิงพวกของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ณ โรงแรมที่เกิดเหตุอีกจนกระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 4 โดยพลาดอีกกระทงหนึ่ง รวมเป็นความผิด 2 กระทง มิใช่ 3 กระทง ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กับฐานพาอาวุธปืน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 72 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่มีเครื่องกระสุนปืนเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบประกอบคำรับสารภาพได้ความว่า เครื่องกระสุนปืนตามฟ้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธตามฟ้องจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ส่วนในความผิดฐานพาอาวุธปืนศาลล่างทั้งสองเพียงแต่ปรับบทความผิดและวางโทษ แต่มิได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง มาด้วย นอกจากนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม เพราะจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทิลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งกระทำความผิดก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 กระทงหนึ่ง และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 60 กระทงหนึ่ง นอกจากนี้จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด จำคุกคนละ 10 ปี รวมจำคุกคนละ 21 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 10 ปี 9 เดือน ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8