คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 20, 22, 23, 24, 31 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันที่ 26 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และวันที่ 12 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นายวิทยา มาลัย ผู้เสียหายเพื่อใช้เบิกถอนเงินสดไปโดยทุจริต แล้วจำเลยใช้บัตรดังกล่าวในแต่ละครั้งที่จำเลยลักไปเบิกถอนเงินจำนวน 3,000 บาท 1,300 บาท 1,500 บาท 2,500 บาท 5,000 บาท 3,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับรวมจำนวนเงิน 18,300 บาท จากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของผู้เสียหายโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 335, 90, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 335 (1) รวม 7 กระทง การกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นเบิกถอนเงินสดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินถึง 7 ครั้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการลงโทษสถานเบาและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินหลายครั้งรวมจำนวน 18,300 บาท แต่เงินดังกล่าวเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก ประกอบกับผู้เสียหายเป็นอาของภริยาจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดต่อวงศ์ญาติอีกทั้งหลายเกิดเหตุจำเลยใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วนแล้ว และผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยอีกต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุอันควรให้ความปรานีจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกให้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง การที่จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติแต่ละครั้งนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งดังกล่าวจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นเบิกถอนเงินสดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 334, 335 (1) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 14 กระทง แต่คงลงโทษจำเลยได้เพียง 7 กระทง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง โดยปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 7 กระทง ปรับ 42,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 21,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share