คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอน การคิดค่าจ้างเป็นรายเดือนนี้ย่อมไม่มีการนำจำนวนวันละเวลาที่มาปฏิบัติงานมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างในการมาปฏิบัติงานของโจทก์ ดังนี้ หากโจทก์จะขาดงานไปบ้างก็ถือเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่เท่านั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนลงเวลามาปฏิบัติงานกะกลางคืนตั้งแต่เวลา 19.57นาฬิกา ถึงเวลา 4 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นอันเป็นเท็จ ย่อมมีผลเป็นการขาดงานไปหนึ่งกะเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหายแก่การผลิต จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1) และ (3) การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2535 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งแผนกผลิต ได้รับเงินเดือนเดือนละ4,780 บาท กำหนดจ่ายเงินเดือนทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่7 กันยายน 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โจทก์ทำงานมาเกิน 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 28,680 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 28,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งแผนกผลิตของจำเลย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2538 โจทก์ต้องเข้าทำงานกะกลางคืนเวลาระหว่าง 20 นาฬิกา ถึง 4 นาฬิกา ซึ่งโจทก์มาลงเวลาเข้าทำงานเวลา 19.57 นาฬิกา และออกจากงานเวลา 4.19 นาฬิกาโดยโจทก์ไม่ได้เข้าทำงานเลย อันเป็นการละทิ้งหน้าที่และถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายต่อการผลิตทั้งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน28,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ในตำแหน่งแผนกผลิต อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 4,780 บาท เมื่อวันที่5 กันยายน 2538 โจทก์ต้องทำงานกะกลางคืนระหว่างเวลา20 นาฬิกา ถึง 4 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ในวันดังกล่าวโจทก์ลงบันทึกเข้าทำงานเวลา 19.57 นาฬิกา และออกจากงานเวลา4.19 นาฬิกา อันเป็นเท็จ ความจริงโจทก์มิได้อยู่ปฏิบัติงานในเวลาดังกล่าว
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอน การคิดค่าจ้างเป็นรายเดือนนี้ย่อมไม่มีการนำจำนวนวันและเวลาที่มาปฏิบัติงานมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างในการมาปฏิบัติงานของโจทก์ หากโจทก์จะขาดงานไปบ้างก็ถือเป็นเพียงการปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายเดือนลงเวลามาปฏิบัติงานกะกลางคืนตั้งแต่เวลา19.57 นาฬิกา ถึงเวลา 4 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นอันเป็นเท็จย่อมมีผลเป็นการขาดงานไปหนึ่งกะเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ในค่าจ้างโดยไม่ชอบและประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหายแก่การผลิต จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) และ(3) ดังที่จำเลยอุทธรณ์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share