คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้สั่งจ่ายเขียนลงด้านหน้าว่า”เปลี่ยนมือไม่ได้” จะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 985,917,306 การโอนระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนจึงต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอน มิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เมื่อปรากฏเพียงว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่ลูกหนี้เป็นผู้ออกนั้น ผู้โอนได้โอนให้เจ้าหนี้ด้วยวิธีสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น การโอนดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ยังไม่เป็นผู้ทรง แม้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว ผู้โอนจะได้ทำคำบอกกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบถึงการสลักหลังและส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ก็หาทำให้เจ้าหนี้กลับเป็นผู้ทรงโดยชอบไม่ ดังนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ และไม่อาจนำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ได้.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 นายไชยยงค์ นุกรณ์นวรัตน์เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยอ้างว่าลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยและเมื่อหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ (จำเลย)ที่ 1 แล้วเป็นเงินที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ จำนวน 102,257.34 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างเจ้าหนี้ผู้รับโอนกับผู้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินผู้โอนได้กระทำโดยวิธีสลักหลัง โอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่กันแต่มิได้ทำเป็นหนังสือ การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เจ้าหนี้จึงยังมิได้สิทธิเรียกร้องตามตั๋วเงินจากลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้มาหักกลบลบหนี้กันได้ เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเจ้าหนี้ได้รับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินจากนางสุภาภรณ์ ภัทรเมธากุลนาง>ภาวิณี รติพรรณพงศ์ นายสันต์ชัย เลิศรัตนเมธากร คนละหนึ่งฉบับและรับโอนจากนายธงชัย วิเศษพันธุรังษี สองฉบับเป็นการชำระหนี้ที่บุคคลดังกล่าวได้ขอยืมเงินจากเจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5โดยการสลักหลังและส่งมอบให้เจ้าหนี้ ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนดังกล่าวลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 เป็นผู้ออก ต่อมาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 เด็ดขาดแล้วจึงได้แจ้งการสลักหลังและการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามเอกสารสารบัญอันดับที่ 14/1 ถึง 14/5 ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับดังกล่าวเป็นตั๋วที่ระบุในด้านหน้าตั๋วว่า”เปลี่ยนมือไม่ได้” เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ที่ 1 เด็ดขาด เจ้าหนี้ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ และขอหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งเมื่อหักกลบลบแล้วเจ้าหนี้จึงขอรัำระหนี้จำนวน 102,257.34 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและหักหลบลบหนี้ได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับเป็นตั๋วเงินที่ผู้สั่งจ่ายเขียนลงด้านหน้าว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” การโอนตั๋วเงินชนินี้จะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985, 917, 306การโอนระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนจึงต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอน มิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เมื่อปรากฏเพียงว่าผู้โอนทั้งสี่คนโอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ด้วยวิธีสลักหลังและส่งมอบเท่านั้นการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเจ้าหนี้จึงยังไม่เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน แม้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 แล้ว ผู้โอนจะได้ทำคำบอกกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบถึงการสลักหลังและส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ก็ตาม ก็หาทำให้เจ้าหนี้กลับเป็นผู้ทรงโดยชอบไม่ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ได้ และไม่อาจนำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ (จำเลย)ที่ 1…”
พิพากษายืน.

Share