แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งต้องจัดการแบ่งมรดกที่ดินซึ่งเดิมมีเนื้อที่ 2 งาน 96 ตารางวา แต่เมื่อรังวัดใหม่พบว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่จริงตามที่รังวัดได้คือ 1 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมแก้ไขเนื้อที่และจดทะเบียนโฉนดที่ดินให้โจทก์ และจำเลยที่ 2 คัดค้านการรังวัดที่ดิน เป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในโฉนดที่ดินตามที่รังวัดได้จริง และขอให้จำเลยที่ 2 ถอนการคัดค้านการรังวัดที่ดิน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงรวมถึงปัญหาตามประเด็นที่ว่าที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมที่ตื้นเขินหรือเป็นของโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดเป็นเขตคลองกระเทียมแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงปัญหาว่า ที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมตื้นเขินหรือของโจทก์ จึงไม่ได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 2685 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนการรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 2685 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน กับขอให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 2685 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขเนื้อที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 2685 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้เพียง 3 ข้อ คือ 1. โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ 2. การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และ 3. โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดประเด็นและวินิจฉัยว่า ที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมที่ตื้นเขินหรือเป็นของโจทก์ชอบหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยในข้อที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งต้องจัดการแบ่งมรดกที่ดินซึ่งเดิมมีเนื้อที่ 2 งาน 96 ตารางวา แต่เมื่อรังวัดใหม่พบว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่จริงตามที่รังวัดได้คือ 1 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมแก้ไขเนื้อที่และจดทะเบียนโฉนดที่ดินให้โจทก์ และจำเลยที่ 2 คัดค้านการรังวัดที่ดินเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในโฉนดที่ดินตามที่ได้รังวัดจริง และให้จำเลยที่ 2 ถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดิน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทข้อ 2 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงรวมถึงปัญหาตามประเด็นที่ว่าที่ดินรังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมที่ตื้นเขินหรือเป็นของโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ย่อมจะไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงปัญหาว่า ที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมตื้นเขินหรือเป็นของโจทก์ จึงไม่ได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นประการสุดท้ายว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 งาน 45 ตารางวา เป็นที่ดินคลองบางกระเทียมที่ตื้นเขินหรือเป็นที่ดินของโจทก์เดิมที่มีการรังวัดผิดพลาด ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทเอกสารหมาย จ.1 นายเฟื้อนบิดาโจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำสั่งของศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีหมายเลขแดงที่ 704/2534 เอกสารหมาย จ.2 อาณาเขตของที่ดินทิศเหนือและทิศตะวันตกติดคลองบางกระเทียม ในการรังวัดที่ดินแนวเขตด้านที่ติดต่อคลองบางกระเทียม มีนายพิเชษฐ์ได้รับมอบหมายจากปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอบางเสาธงให้ไประวังแนวเขตที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งการไประวังแนวเขตครั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นายพิเชษฐ์ไม่ได้คัดค้านเกี่ยวกับการรังวัดแนวเขต แต่ในครั้งที่ 4 นายพิเชษฐ์ได้ยินชาวบ้านพูดกันว่าที่ดินส่วนที่เกินนั้นเป็นส่วนของคลองบางกระเทียมที่ตื้นเขิน อีกทั้งยังเบิกความอีกว่า พยานอาศัยอยู่ในบริเวณที่พิพาทตั้งแต่เด็ก แนวคลองบางกระเทียมในสมัยนั้นมีความกว้างกว่าสมัยนี้มาก บริเวณที่โจทก์ขอรังวัดเพิ่มเติมสมัยก่อนเป็นบริเวณที่น้ำท่วมถึง แต่ปัจจุบันน้ำท่วมไม่ถึงแล้วเนื่องจากประตูน้ำบริเวณตำบลคลองด่านสามารถระบายน้ำได้ทัน เมื่อพิจารณาระวางแผนที่เอกสารหมาย ล.6 ล.7 และ ล.15 แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า หากโจทก์ไม่นำชี้ตามสภาพที่ดินที่โจทก์ชี้ไปจนติดคลองบางกระเทียมโดยชี้ไปตามแนวเขตเดิมโฉนดที่ดิน โจทก์จะได้ที่ดินตามที่กำหนดไว้ในโฉนดตามรูปแผนที่ระวางเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งจะเห็นแนวคลองกระเทียมเดิมซึ่งเป็นหมึกสีแดงเกี่ยวกับแนวคลองดังกล่าว จำเลยที่ 2 เคยเดินทางไปตรวจบริเวณที่ดินพิพาทพร้อมกับผู้ใหญ่บ้านแล้วพบว่า สภาพคลองบางกระเทียมประชาชนยังใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.11 จำนวน 6 ภาพ นอกจากนี้ยังพบคูน้ำกว้างประมาณ 2 เมตร ซึ่งด้านท้ายมีการถมดินปิดกั้นไว้เข้าใจว่าเพื่อปิดทางน้ำและสภาพดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุให้แม่น้ำบางกระเทียมหรือคลองบางกระเทียมเดิมตื้นเขิน แต่การที่จำเลยที่ 2 เบิกความดังกล่าวมานั้น คูน้ำที่จำเลยที่ 2 อ้างถึงอาจเป็นแนวคลองบางกระเทียมเดิมและมีการตื้นเขินเกิดขึ้นบริเวณกลางคลองทำให้แนวคลองเดิมเปลี่ยนทิศทางจนกลายสภาพเป็นคลองใหม่ในปัจจุบัน ส่วนแนวคลองเดิมก็คือคูน้ำกว้าง 2 เมตรนี้ เมื่อมีการปิดทางเดินของน้ำจึงทำให้มองเห็นเป็นว่าที่ดินที่ตื้นเขินของแม่น้ำบางกระเทียมเป็นส่วนเดียวกับที่ดินพิพาท ในข้อนี้โจทก์มีตัวโจทก์เอง นายเสนีย์ พี่ชายโจทก์ และนางสภาพ พี่สาวโจทก์ นายแบน ผู้ใหญ่บ้าน นายแดง ชาวบ้านอยู่มาตั้งแต่เกิด ซึ่งพยานโจทก์ตามที่กล่าวไม่มีผู้ใดทราบหรือยืนยันหลักเขตที่แน่นอนของที่ดินพิพาทได้ มานำสืบอ้างแต่เพียงว่าแม่น้ำบางกระเทียมหรือคลองบางกระเทียมเดิมถูกกัดเซาะอันจะทำให้เห็นว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้ตื้นเขิน แต่ก็มีการเบิกความยืนยันว่า มีการขุดลอกคลองแล้วนำดินมาไว้ริมฝั่ง ซึ่งเจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งนางสโรชา ซึ่งเป็นผู้ระวังแนวเขตด้านติดแม่น้ำบางกระเทียม พยานโจทก์ก็มาเบิกความว่า ได้รับรองแนวเขตตามที่โจทก์นำชี้ไม่ได้รุกล้ำไปในคลอง (ในน้ำ) ซึ่งลงชื่อรับรอง และยังเบิกความยืนยันอีกว่าแม่น้ำบางกระเทียม หรือคลองบางกระเทียมบางจุดตื้นเขินจนเรือเดินไม่ได้ ทำให้เห็นว่าที่ดินพิพาทที่เกิดจากเนื้อที่ตามโฉนดนั้นเป็นไปได้ว่าเป็นทางน้ำที่ตื้นเขินดังที่กล่าวมาแล้ว ประกอบกับที่ดินพิพาทนี้มีการออกโฉนดตั้งแต่ปี 2415 หรือรัตนโกสินทร์ศก 126 โดยไม่เคยมีการรังวัดแนวเขตมาก่อนเลย จึงเป็นไปได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า มีการตื้นเขินของแม่น้ำบางกระเทียมหรือคลองบางกระเทียมเดิม พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ตื้นเขินของแม่น้ำบางกระเทียม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ