แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 จะทำสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมขึ้นมาโดยการปกปิดข้อเท็จจริงบางประการไว้ แต่หากไม่ได้ทำให้เนื้อความตามข้อสัญญาต้องเปลี่ยนแปลงไปมีความหมายเป็นอย่างอื่นหรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไปแทนที่ข้อเท็จจริงที่ปกปิดไว้แล้วย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ การปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้เช่นนั้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดทอนข้อความอันจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดหรือไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
เมื่อสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมดังกล่าวไม่เป็นเอกสารปลอมแล้ว การที่จำเลยเบิกความในคดีอาญาอ้างถึงสัญญาดังกล่าวจึงไม่อาจถือว่าเป็นการเบิกความเท็จได้ เพราะได้มีการทำสัญญาดังกล่าวกันจริง ทั้งจำเลยก็เบิกความไปตามที่ระบุไว้ในสัญญานั้น อีกทั้งศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความที่ถูกปกปิดมิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 จึงมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172, 174, 177, 179, 180, 264, 265, 268, 83, 84, 90, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดหลายข้อหาต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ในความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูลความผิด พิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิที่โจทก์อุทธรณ์สรุปได้ว่า จำเลยทั้งห้าทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลชั้นต้นอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะได้รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ต่อมาเมื่อโจทก์ฎีกาแม้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบเพราะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 ได้เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกพยานเอกสารที่ฝ่ายจำเลยอ้างประกอบซักค้านพยานโจทก์ขึ้นมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นการชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าการพิจารณาคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล จำเลยจะเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีได้ตามกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น คือ ซักค้านพยานโจทก์และส่งเอกสารเพื่อซักค้านพยานโจทก์ แต่จำเลยนำสืบพยานยังไม่ได้ จึงไม่มีพยานมาสืบประกอบเอกสารที่จำเลยนำเข้ามาใช้ซักค้านพยานโจทก์เลย เหตุอื่นที่ศาลจะนำมาพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้จะต้องเป็นเหตุอื่นอันเป็นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเท่านั้น โจทก์นำสืบแค่ไหน ศาลก็จะต้องรับฟังเพียงเท่าที่โจทก์นำสืบไว้เท่านั้น ส่วนศาลอุทธรณ์ก็ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่ได้นำสืบในศาลชั้นต้นและตามประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาเอกสารหมาย ล.16 ที่จำเลยทั้งห้านำมาซักค้านพยานโจทก์ โดยที่จำเลยทั้งห้ายังไม่ได้สืบพยานประกอบอันจะให้รับฟังข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นยุติแล้ว พร้อมทั้งหยิบยกเอาเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ขึ้นมาวินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าย่อมเป็นการนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยคดี จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162(1)บัญญัติให้ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ก่อนที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ศาลได้ตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่า เรื่องที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยมีมูลแห่งคดีพอที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ คือจะต้องมีเรื่องราวตามฟ้องเกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กลั่นแกล้งฟ้องร้องกันโดยอาศัยศาลเป็นเครื่องมือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคลผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม จึงบัญญัติให้จำเลยมีสิทธิตั้งทนายความมาซักค้านพยานโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้องได้ และก่อนที่ศาลจะประทับฟ้องก็มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นจำเลย คือจะไปจับกุมคุมขังจำเลยและสอบคำให้การจำเลยทั้งที่จำเลยเองก็ยังไม่มีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบมิได้ การไต่สวนมูลฟ้องจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลดังเช่นที่โจทก์ฎีกานั้นถูกต้องแล้ว แต่การที่จะให้ศาลรับฟังว่าคดีของโจทก์มีมูลเพียงพอที่จะให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่นั้น หาได้จำกัดว่าศาลจะต้องรับฟังจากพยานหลักฐานที่โจทก์เสนอต่อศาลเท่านั้นไม่ เพราะเมื่อจำเลยใช้สิทธิในการซักค้านพยานโจทก์แล้ว หากการซักค้านนั้นได้มีการกล่าวอ้างพาดพิงถึงเอกสารฉบับใด เมื่อพยานโจทก์ที่ถูกซักค้านได้ตรวจเอกสารและเบิกความยอมรับเอกสารฉบับนั้นแล้วก็ต้องถือว่าเอกสารที่จำเลยอ้างประกอบการซักค้านดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165 วรรคสองบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกเอาเอกสารหมาย ล.16 ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าอ้างประกอบในการซักค้านพยานโจทก์ขึ้นมาวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วยนั้น จึงเป็นการชอบแล้วมิใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยคดีดังที่โจทก์ฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า ฟ้องโจทก์มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174, 177, 180, 264, 265 และ268 หรือไม่ ในความผิดข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และ 174 นั้น ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุที่จำเลยทั้งห้าร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์หมิ่นประมาทก็เนื่องจากโจทก์ทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่ามีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บางคนทำการเปลี่ยนแปลงแบบที่จะใช้ในการก่อสร้างอาคารโครงการวังเพชรบูรณ์หรือเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แก้ไขสัญญาเพิ่มเติมสัญญา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์ที่พึงจะได้เป็นจำนวนมาก เป็นการกระทำความผิดทางอาญาขอให้ดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่กระทำความผิดและให้ดำเนินคดีแก่นายอุเทน เตชะไพบูลย์ นายอุธรณ์เตชะไพบูลย์ นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ (จำเลยที่ 2)นายวิวัฒน์ เตชะไพบูลย์ นายวีรมิตร เตชะไพบูลย์ นายวิมล เตชะไพบูลย์นายประสิทธิ์ ชินประเสริฐ นายสัตยาพร ตันเต็มทรัพย์ นายเอี่ยม หัสสรังสีและบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด (จำเลยที่ 1) โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ นายดุษฎี สวัสดิ์ – ชูโต (จำเลยที่ 3) นายวิรุฬเตชะไพบูย์ (จำเลยที่ 2) กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งเป็นผู้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการ แก้ไขสัญญา เพิ่มเติมสัญญา ทั้งได้ร่วมแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมสัญญาในฐานะเป็นผู้ก่อให้กระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิดตัวการในการกระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 353, 83, 84และ 86 ซึ่งมีรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.10 อันเป็นลักษณะที่โจทก์ได้ร้องเรียนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บางคนกระทำการแสวงหาประโยชน์มิควรได้เพื่อตนเองด้วยการเปลี่ยนแบบที่จะใช้ก่อสร้างอาคารโครงการวังเพชรบูรณ์แก้ไขสัญญา เพิ่มเติมสัญญา ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เสียหาย แต่เมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ในโครงการวังเพชรบูรณ์ได้ตรวจสอบแล้วมีหนังสือชี้แจงไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแบบและแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ทำกันนั้น มิได้ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับความเสียหายใด ๆ แต่กลับทำให้เกิดประโยชน์ต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นอีกตามเอกสารหมาย จ.11 โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแบบที่จะใช้ในการก่อสร้างอาคารโครงการวังเพชรบูรณ์นั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ชี้แจงว่า “สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นไม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณา และเมื่อบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด(จำเลยที่ 1) เป็นผู้ชนะการประมูลแล้วได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และตัวแทนบริษัทวังเพชรบูรณ์จำกัด (รวมทั้งนายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ์ (โจทก์) ผู้ร้องเรียนซึ่งขณะนั้นเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบของบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด) โดยผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ชี้แจงให้ทราบว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เสนอมานั้นคล้ายคลึงกับโครงการศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่าและอาคารวอลสตรีทจึงขอให้บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด แก้ไขรูปแบบทางสถาปัตยกรรมใหม่ให้เป็นเอกลักษณ์ของโครงการวังเพชรบูรณ์โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัดได้ยื่นแบบที่ได้แก้ไขใหม่มาให้พิจารณาโดยมีองค์ประกอบเดิมครบถ้วน คือมีอาคารศูนย์การค้า อาคารโรงแรมชั้นหนึ่ง และอาคารสำนักงาน แต่เปลี่ยนแปลงทางรูปแบบสถาปัตยกรรมเท่านั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่เคยตกลงยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างหรือมูลค่าของอาคารให้ลดน้อยลงแต่ประการใด จึงไม่ทำให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เสียหายหรือขาดประโยชน์ที่ควรได้หากต่อไปปรากฏว่าไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้พื้นที่ตามที่กำหนดไว้เนื่องจากขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือกฎหมายใด ๆ ก็ดีทั้งสองฝ่ายจะต้องทำความตกลงกันในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง” ตามคำชี้แจงในการเปลี่ยนแปลงแบบที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารโครงการวังเพชรบูรณ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดังกล่าวโจทก์ก็อยู่ร่วมรับรู้ถึงเหตุที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องการให้เปลี่ยนแปลงแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าได้อยู่ด้วยเช่นกัน อันทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแบบที่จะใช้ในการก่อสร้างอาคารโครงการวังเพชรบูรณ์เป็นความต้องการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เห็นว่าแบบสถาปัตยกรรมที่โจทก์เป็นผู้ออกแบบไปคล้ายคลึงกับโครงการศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่าและอาคารวอลสตรีทมิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบโครงการดังหนังสือร้องเรียนของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทราบหนังสือร้องเรียนของโจทก์และเห็นว่าตนมิได้กระทำการทุจริตใด ๆ อันจะทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องเสียหายแล้ว การกระทำของโจทก์เช่นนี้ย่อมทำให้ตนได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าดำเนินธุรกิจโดยมิชอบคิดหาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่นแล้วก็ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาโจทก์หมิ่นประมาทได้ ส่วนการที่โจทก์ทำหนังสือร้องเรียนตามเอกสารหมาย จ.10 เพื่อป้องกันส่วนได้เสียของโจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการออกแบบอาคารโครงการวังเพชรบูรณ์จากจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุให้ศาลแขวงดุสิตวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ดังเช่นที่โจทก์นำสืบนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่งไม่เกี่ยวข้องกันดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ทนายความไปร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ดังกล่าวนั้น จึงยังไม่พอที่จะให้รับฟังว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และ 174 ส่วนความผิดข้อหาเบิกความเท็จในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8505/2534ของศาลแขวงดุสิต เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรม และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268 และ 180 ดังนั้น ในชั้นนี้จึงจะวินิจฉัยสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมตามเอกสารหมาย จ.19 ก่อนว่าเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมตามเอกสารหมาย จ.6 ต้องลงทุนปลูกสร้างอาคารให้มีพื้นที่ 712,000 ตารางเมตร และมีมูลค่าของอาคาร 9,485 ล้านบาท แต่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำสำเนาสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมตามเอกสารหมาย จ.19โดยการถ่ายภาพและลบข้อความที่กำหนดพื้นที่และมูลค่าของอาคารที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.6 ออกทำให้สำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19ไม่ถูกต้องตรงกับสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.6 สำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19 จึงเป็นเอกสารปลอม และการกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายนั้น เห็นว่า แม้สำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19 ข้อ 2 จะไม่ปรากฏตัวเลข “712,000” กับ “9,485” และตัวหนังสือ (เก้าพันสี่ร้อยแปดสิบห้าล้านบาท) ซึ่งเป็นพื้นที่อาคารและมูลค่าของอาคารอยู่ด้วยก็ตาม แต่สัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรม มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากัน การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กรรมการผู้มีอำนาจจะทำสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมขึ้นมาโดยการปกปิดข้อเท็จจริงบางประการไว้ แต่หากไม่ได้ทำให้เนื้อความตามข้อสัญญาต้องเปลี่ยนแปลงไปมีความหมายเป็นอย่างอื่น หรือเพิ่มเติมข้อความใหม่ให้แตกต่างไปแทนที่ข้อเท็จจริงที่ปกปิดไว้แล้วย่อมมีสิทธิที่จะทำได้การปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้เช่นนั้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดทอนข้อความอันจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยจะเห็นได้ว่าสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19 มีการปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลข “712,000”กับ “9,485” และตัวหนังสือ (เก้าพันสี่ร้อยแปดสิบห้าล้านบาท) อันเกี่ยวกับพื้นที่อาคารและมูลค่าของอาคารไว้เท่านั้น ไม่ได้มีการเพิ่มเติมตัวเลขหรือข้อความใด ๆ ลงแทนที่อันจะทำให้เห็นว่ามีความหมายเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นการกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดหรือไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งห้าปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาค่าจ้างออกแบบโครงการวังเพชรบูรณ์จากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างโจทก์ก็ยังคงมีอยู่ ไม่เกี่ยวกับสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19 ระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับจำเลยที่ 1 ที่เป็นคู่สัญญากันแต่อย่างใดข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารใช้เอกสารปลอมและนำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และ 180 จึงไม่มีมูลความผิดเมื่อสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19 ไม่เป็นเอกสารปลอมแล้ว การที่จำเลยที่ 2 เบิกความในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8505/2534 ของศาลแขวงดุสิต ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “โจทก์ร่วม (จำเลยที่ 1) ได้ทำสัญญากับทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้วปรากฏตามสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.5 สัญญาทำเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม2526 สัญญาดังกล่าวทำในวันที่โจทก์ร่วมยินยอมที่จะแก้ไขแบบให้เป็นไปตามความต้องการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” นั้น ไม่อาจถือว่าเป็นการเบิกความเท็จได้เพราะได้มีการทำสัญญาเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมตามเอกสารหมาย จ.19 (คือเอกสารหมาย จ.5ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8505/2534 ของศาลแขวงดุสิต) กันจริง ทั้งตามสัญญาดังกล่าวข้อ 2 ก็มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผู้เช่าตกลงเช่าที่ดินดังกล่าวตามสัญญาข้อ 1 เพื่อทำการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมตามแบบแปลนแผนผังบริเวณและรายการประกอบแบบแปลนขั้นต้น ซึ่งผู้เช่าจะต้องแก้ไขใหม่ตามที่ตกลงไว้กับผู้ให้เช่าและจะส่งมาให้ผู้ให้เช่าพิจารณาภายใน 360 วันนับแต่วันทำสัญญานี้” ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว ทั้งในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา หมายเลขดำที่8505/2534 ของศาลแขวงดุสิต ตามเอกสารหมาย จ.26 ก็มิได้หยิบยกจำนวนตัวเลขที่ถูกปกปิดไว้ในสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.5 ในคดีดังกล่าว(เอกสารหมาย จ.19 คดีนี้) ขึ้นมาวินิจฉัย แต่ได้หยิบยกคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อนุญาตให้โจทก์ร่วม(จำเลยที่ 1) นำพื้นที่ทิวเขียวจำนวน 31 ไร่ ไปรวมคำนวณกับพื้นที่โครงการวังเพชรบูรณ์เพื่อคิดคำนวณการก่อสร้างอาคารเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอย 700,000กว่าตารางเมตร นอกจากนี้โจทก์ร่วม (จำเลยที่ 1) ได้ขออนุญาตสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก่อสร้างที่จอดรถใต้พื้นดินบริเวณพื้นที่ทิวเขียวจำนวน 17 ไร่ โจทก์ร่วม (จำเลยที่ 1) ได้จ่ายค่าตอบแทนไร่ละ 1,000,000บาท ต่อปี ขึ้นมาวินิจฉัยว่าสอดคล้องกับคำร้องเรียนของโจทก์อันแสดงว่าศาลแขวงดุสิตเห็นว่าจำนวนตัวเลขที่ถูกปกปิดในสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าเพื่อการลงทุนปลูกสร้างอาคารศูนย์การค้าและโรงแรมเอกสารหมาย จ.19(เอกสารหมาย จ.5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8505/2534 ของศาลแขวงดุสิต)มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 จึงมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเพื่อยกฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่า ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 นั้นชอบแล้วเช่นกัน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน