คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852-919/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาบริษัท พ. ผู้เช่าเข้ามาเช่าและดำเนินกิจการต่อจากจำเลย การที่จำเลยได้โอนกิจการของตนไปให้บริษัท พ. เช่าดำเนินการต่อ และบริษัท พ. ได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัท พ. โดยโจทก์ทั้งหมดมิได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัท พ. ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 ให้สิทธิไว้ อีกทั้งเมื่อบริษัท พ. ค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งหมดก็ฟ้องคดีเรียกค่าจ้างค้างชำระเอาแก่บริษัท พ. กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัท พ. และยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัท พ. แล้ว บริษัท พ. จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมด ตามคำนิยามของคำว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์ทั้งหมดจึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย

ย่อยาว

คดีทั้งหกสิบแปดสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 68

โจทก์ทั้งหกสิบแปดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย มีวันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ 30ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดยกเว้นโจทก์ที่ 6โดยที่โจทก์ทั้งหมดไม่ได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ทั้งหมดยกเว้นโจทก์ที่ 6 มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามกฎหมาย สำหรับโจทก์ที่ 6 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยเจตนาไม่บริสุทธิ์ได้ให้บุคคลอื่นทำงานแทนโจทก์ที่ 6 และปล่อยให้ตัดกระแสไฟฟ้าน้ำประปา โทรศัพท์ ปิดกิจการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ที่ 6 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยค่าจ้างกรณีปิดกิจการชั่วคราวเพราะความจำเป็นของนายจ้างโดยไม่ประกาศล่วงหน้าจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าจ้างในวันทำงานปกติ และค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแต่ละประเภทดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งหมดตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน

จำเลยทั้งหกสิบแปดสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งหมดไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้ง 68 คน ยังเป็นลูกจ้างจำเลยพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์แต่ละคนตามฟ้อง

จำเลยทั้งหกสิบแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อบริษัทพงษ์พัฒนาพิมพ์ย้อม จำกัด เช่าดำเนินกิจการต่อจากจำเลย โจทก์ทั้งหมดได้ปฏิบัติงานและรับค่าจ้างจากบริษัทผู้เช่ามิได้รับค่าจ้างจากจำเลย เมื่อไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และนำคดีไปฟ้องศาลแรงงานกลางเรียกค่าจ้างค้างชำระ โจทก์ทั้งหมดก็ได้ระบุว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทผู้เช่า โจทก์ทั้งหมดยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างที่บริษัทผู้เช่ารับโอนไปจากจำเลยตามสัญญาเช่าและโจทก์ทั้งหมดตกลงทำงานให้บริษัทผู้เช่า โจทก์ทั้งหมดจึงเป็นลูกจ้างของบริษัทผู้เช่า มิใช่ลูกจ้างของจำเลยนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมโจทก์ทั้งหมดเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาเมื่อปลายปี 2540 บริษัทพงษ์พัฒนาพิมพ์ย้อม จำกัด ผู้เช่าเข้ามาเช่าและดำเนินกิจการต่อจากจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ทั้งหมดทำงานและรับค่าจ้างจากบริษัทผู้เช่า เมื่อบริษัทผู้เช่าค้างชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ทั้งหมดได้ฟ้องคดีให้บริษัทผู้เช่าชำระค่าจ้างหาได้ฟ้องจำเลยไม่ ต่อมาศาลแรงงานกลางได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบริษัทผู้เช่ายอมชำระค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ทั้งหมด ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1077/2542 และ 4114 ถึง 4184/2542ของศาลแรงงานกลาง จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาปรากฏว่าจำเลยได้โอนกิจการของตนไปให้บริษัทพงษ์พัฒนาพิมพ์ย้อม จำกัด ผู้เช่าดำเนินการต่อและบริษัทผู้เช่าได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัทผู้เช่าด้วย โดยโจทก์ทั้งหมดหาได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัทผู้เช่า ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 ให้สิทธิไว้ไม่ อีกทั้งเมื่อบริษัทผู้เช่าค้างชำระค่าจ้างโจทก์ทั้งหมดก็ฟ้องคดีเรียกค่าจ้างค้างชำระเอาแก่บริษัทผู้เช่า กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัทผู้เช่าและยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัทผู้เช่าแล้ว บริษัทผู้เช่าจึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมด ตามคำนิยามของคำว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์ทั้งหมดมิใช่ลูกจ้างของจำเลย

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน

Share