คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่โจทก์ในฐานะผู้ส่งทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางตามกำหนดเวลา แต่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าด้วยความล่าช้าทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าพิพาทไป แต่กลับรับมอบสินค้าพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาด จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทที่ขนส่งเสียหายเพราะความล่าช้าและไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาและใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังอยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามมูลสัญญารับขนของทางทะเลที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นในความเสียหายของสินค้าพิพาทระหว่างการขนส่งได้ ส่วนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องว่ากล่าวต่อกันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งความตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะตามใบกำกับสินค้า หรืออาจตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันภายหลังจากที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายนั้นๆ ไม่มีผลต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ผู้ส่งว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่แรก จนกระทั่งเป็นผู้ออกใบตราส่ง ซึ่งเป็นใบตราส่งที่ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องเป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการพิพากษาให้รับผิดนอกเหนือจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ให้เห็นถึงขนาดที่ว่าการที่เครื่องยนต์เรือขัดข้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 3 ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง แต่ก็ยังมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ได้หากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายเมื่อสินค้าพิพาทตามใบตราส่งคือาหารกุ้งจำนวน 4,480 ถุง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 หน่วยการขนส่งในการขนสั่งครั้งนี้จึงได้แก่ 4,480 หน่วย ซึ่งผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้คือ 44,800,000 บาท ค่าเสียหายที่กำหนดจำนวน 850,000 ยาท จึงอยู่ในวงเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 1,014,116.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2544 โจทก์ขายอาหารกุ้งให้แก่บริษัทซีโปรดักส์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ซื้อที่ประเทศเวียดนาม ในราคา 65,070 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ในฐานะผู้ส่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ให้ขนส่งสินค้าพิพาทไปยังประเทศเวียดนาม จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 และออกใบตราส่งในชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ในการขนส่งจำเลยที่ 1 ใช้เรือไอรอน ดี ซึ่งเช่าเหมาลำมาจากจำเลยที่ 3 เจ้าของเรือและผู้ขนส่งอื่นตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ แต่นายเรือและลูกเรือยังเป็นของจำเลยที่ 3 รวมทั้งการดูแลควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ในเรือยังเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 รวมทั้งการดูแลควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ในเรือยังเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 เรือไอรอน ดี กำหนดออกจากท่าเรือกรุงเทพวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ถึงท่าเรือโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม วันที่ 13 สิงหาคม 2544 โจทก์จัดส่งสินค้าพิพาท 4,480 ถุง ลงเรือไปรอน ดี และเรือได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีในวันที่ 10 สิงหาคม 2544 หลังจากเรือออกเดินทางได้ไม่นานเครื่องยนต์เรือเกิดขัดข้องเนื่องจากอุปกรณ์ส่วนที่เรียกว่าตุ๊กตารับเพลาของเครื่องยนต์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ทำให้สินค้าพิพาทไปถึงล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเหตุให้ลูกค้าของโจทก์ที่ประเทศเวียดนามปฏิเสธไม่รับสินค้าพิพาท โจทก์จึงรับมอบสินค้าพิพาท แล้วนำออกขายทอดตลาด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลจากการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะความล่าช้าระหว่างการขนส่งหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องโจทก์โดยอาศัยมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่โจทก์ในฐานะผู้ส่งทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางตามกำหนดเวลา แต่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าด้วยความล่าช้าทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทซีโปรดักส์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ซื้อสินค้าพิพาทไปแต่กลับรับมอบสินค้าพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาดจึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ส่งของจะสั่งให้ผู้ขนส่ง…ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งก็ได้…แต่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง” ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทที่ขนส่งเสียหายเพราะความล่าช้าและไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่งโจทก์ในฐานะคู่สัญญาและใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังอยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามมูลสัญญารับขนของทางทะเลที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นในความเสียหายของสินค้าพิพาทระหว่างการขนส่งได้ ส่วนสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศระหว่างโจทก์ ผู้ขายและบริษัทซีโปรดักส์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ซื้อเป็นไปอย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องว่ากล่าวต่อกันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งความตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะตามใบกำกับสินค้าหรืออาจตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันภายหลังจากที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายนั้นๆ ไม่มีผลต่อสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศตามลำดับหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ผู้ส่งว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง เพื่อขนส่งสินค้าพิพาทไปยังประเทศเวียดนาม โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่แรกจนกระทั่งเป็นผู้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.20 และ ล.1 ซึ่งเป็นใบตราส่งที่ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างไว้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 4 เป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ซึ่งเป็นกรณีที่ตัวแทนในประเทศไทยทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 จึงเป็นการพิพากษาให้รับผิดนอกเหนือจากคำฟ้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า การที่ในใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 3 หัวข้อ การทำสัญญาช่วง การชดใช้ค่าเสียหายและข้อต่อสู้บางประการ ข้อยกเว้นความรับผิด และข้อจำกัดความรับผิดที่ว่า (2) “The Merchant undertakes that no claim or legal action whatsoever shall be made or brougth against any person by whom the carriage is performed or undertaken (including, but not limited to the Carrier’s servants, agents or Sub – contractors) other than the Carrier which imposes or attempts to impose upon any such person, or any vessel owned or operated by such person, any liability whatsoever in connection with the Goods or the carriage thereof whether or not arising out of negligence on the part of such person…” ถือเป็นข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศโดยรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการและเป็นผู้ขนส่งด้วยผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 แต่ข้อตกลงตามใบตราส่งดังกล่าวนั้นเป็นการตกลงยกเว้นความรับผิดของบุคคลอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในฐานะเดียวกับผู้ขนส่ง ดังนั้น ไม่ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะผูกพันคู่สัญญาที่ทำสัญญากับผู้ขนส่งหรือไม่ ก็ไม่มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 824 นั้น ใช้บังคับแก่การเป็นตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นตัวแทนตามสัญญาใด ซึ่งรวมทั้งสัญญารับขนของทางทะเลตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับชำระหนี้ตามสัญญาที่ทำกับผู้อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศนั้นสามารถดำเนินการในประเทศไทยได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อไปว่า การที่อุปกรณ์ส่วนที่เรียกว่าตุ๊กตารับเพลาของเครื่องยนต์เรือไอรอน ดี ขัดข้องได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ถือเป็นความชำรุดบกพร่องของเรือที่แผงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจพบเห็นหรือทราบได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวังและโดยใช้ผีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือหรือไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นการนำสืบข้อยกเว้นความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (11) ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีเพียงนายอนันต์ นายช่างตรวจสอบเรือของบริษัทลอยด์รีจิสเตอร์ ออฟ ชิปปิ้ง จำกัด ที่ให้ถ้อยคำและเบิกความเป็นพยานไว้ว่า พยานเป็นช่างผู้ตรวจสอบเรือไอรอน ดี หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ก่อนเกิดเหตุพยานไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบแต่ยืนยันได้ว่า เรือไอรอน ดี ได้รับการตรวจสภาพเรือและเครื่องยนต์ตามระยะเวลาโดยบริษัทลอยด์รีจิสเตอร์ ออฟ ชิปปิ้ง จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเรือไอรอน ดี ทราบทุกๆ 3 เดือนว่า เรือไอรอน ดี จะต้องได้รับการตรวจสภาพเรือหรือวัสดุอุปกรณ์ส่วนใดบ้างที่ถึงกำหนดการตรวจสอบทั้งทางด้านตัวเรือและเครื่องยนต์เพื่อตรวจสภาพว่าเหมาะสมและปลอดภัยกับการใช้งานหรือไม่ ตามหนังสือรายการแจ้งกำหนดการตรวจเรือเอกสารหมาย ล.13 และ ล.14 เรือไอรอน ดี เป็นสมาชิกสถาบันลอยด์ ทางสถาบันได้ออกหนังสือรับรองให้ตามเอกสารหมาย ล.15 เห็นว่า หนังสือรายการแจ้งกำหนดการตรวจเรือเอกสารหมาย ล.13 และ ล.14 เป็นหนังสือที่แจ้งให้นำเรือไอรอน ดี เข้าตรวจสอบ แต่ไม่มีรายละเอียดและผลการตรวจสอบเกี่ยวกับเครื่องจักรของเรือว่าเป็นอย่างไร ส่วนหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.15 ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2544 เนื้อความที่ปรากฏก็เป็นการรับรองเพียงว่าเรือมีสภาพมั่นคงแข็งแรงพอที่จะบรรทุกสินค้าหนัก และตู้คอนเทนเนอร์ได้รับการจัดเตรียมอย่างมั่นคงแข็งแรงซึ่งก็ไม่ได้เป็นการรับรองการตรวจสอบเครื่องยนต์ของเรือด้วย กลับได้ความจากบันทึกถ้อยคำของนายอนันต์ว่า คามเสียหายของตัวตุ๊กตารับเพลามีสาเหตุมาจากการผิดปกติในการไหลเวียนของน้ำมันหล่อลื่นที่อยู่ภายในชิ้นส่วนอุปกรณ์ประเภทเพลาและอุปกรณ์ลดการเสียดทาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของเครื่องยนต์เรือและระบบจักรกล เป็นเหตุให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวมีน้ำมันหล่อลื่นน้อยกว่าปกติ และเกิดความร้อนจาการเสียดทานในระหว่างเดินเครื่องยนต์ การผิดปกติในการไหลเวียนของน้ำมันหล่อลื่นจนเป็นเหตุให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์มีน้ำมันหล่อลื่นน้อยกว่าปกติเป็นเหตุที่เกิดจากการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์เรือไม่เป็นไปด้วยดีพอ ย่อมเป็นเหตุให้เครื่องยนต์ดังกล่าวเกิดขัดข้องระหว่างการรับขนของทางทะเลได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ให้ได้ความว่า ตุ๊กตารับเพลาได้รับความเสียหายเป็นความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจตรวจสอบและป้องกันไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรของช่างผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือ กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าการขัดข้องของเครื่องยนต์เกิดจากความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในอันจะเป็นข้อยกเว้นความรับผิดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้ด้วยว่า การที่เครื่องยนต์หรือเรือขัดข้องดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาทนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ให้เห็นถึงขนาดที่ว่าการที่เครื่องยนต์เรือขัดข้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 3 ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาท คดีจึงยังฟังไม่ได้ดังคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง แต่ก็ยังมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 60 (1) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะล พ.ศ.2534 ได้ หากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการสุดท้ายว่าเมื่อพิจารณาถึงสิทธิที่จะอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามรายงานผลวิเคราะห์สภาพสินค้าพิพาทหลังเกิดเหตุเอกสารหมาย จ.25 ที่โจทก์อ้างเป็นพยานปรากฏว่า ผู้วิเคราะห์ได้แจกแจงผลการวิเคราะห์สินค้าพิพาทไว้โดยละเอียดทั้งผลวิเคราะห์ทางเคมีและลักษณะทางกายภาพ โดยเฉพาะข้อมูลจากผู้ผลิตที่ว่า “สินค้าอาหารกุ้งมีคุณภาพสินค้าหมดอายุภายใน 3 เดือน นับจากวันผลิต แต่ทั้งนี้ต้องถูกเก็บอยู่ในที่เย็นและแห้งโดยไม่ถูกน้ำและแสงแดด อาหารกุ้งในประเทศไทยโดยปกติจะถูกกระจายสินค้าจากโรงงานผลิตไปถึงผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่และถูกส่งต่อไปยังผู้แทนจำหน่ายรายย่อยภายใน 15 วัน ผู้แทนจำหน่ายรายย่อยจะส่งถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภายใน 16 ถึง 30 วัน สรุปคือ จะใช้เวลาประมาณ 31 ถึง 40 วัน ในการส่งสินค้าถึงผู้รับสินค้าปลายทางและเมื่อใดก็ตามถ้าอาหารกุ้งมีอายุเกินกว่า 30 วัน กลิ่นของอาหารจะจางลงและกุ้งจะไม่กินอาหารกุ้งที่ไม่มีกลิ่น ซึ่งเป็นเหตุผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะซื้ออาหารกุ้งที่มีความสดใหม่มากกว่าอาหารกุ้งที่มีอายุการเก็บไว้นานแล้ว” และบทสรุปของผู้วิเคราะห์ที่ว่า “…กลิ่นของอาหารนั้นจะจางลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างสินค้าที่ผลิตใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณภาพของอาหารกุ้งนั้นได้เปลี่ยนไป โดยกลิ่นของอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับของการบริโภคอาหารของกุ้ง” นายสุรเชษฐ์ พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตำแหน่งผู้สำรวจของบริษัทมารีน เซอร์เวยเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ตรวจสอบสินค้าพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือสอบถามสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืด กรมประมง เกี่ยวกับคุณภาพของอาหารกุ้ง ก็ได้รับคำตอบประการหนึ่งว่า กลิ่นของอาหารจะมีผลต่อการดึงดูดให้กุ้งเข้ามากินอาหารและกลิ่นจัดเป็นสารเคมีที่มีการระเหยได้ ระยะเวลาก็มีผลต่อการลดลงของกลิ่นอาหารตามหนังสือของสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืดเอกสารหมาย ล.10 เป็นการเจือสมพยานโจทก์ให้ฟังได้ว่าการที่สินค้าพิพาทต้องตกค้างอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์นานประมาณ 1 เดือนโดยสภาพของสินค้าพิพาทแม้จะยังใช้เป็นอาหารกุ้งได้ แต่คุณภาพของสินค้าย่อมเสื่อมลงตามระยะเวลา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว การจัดการขายทอดตลาดสินค้าพิพาท โจทก์มีประกาศขายทอดตลาดเอกสารหมาย จ.29 หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.30 และ จ.31 บัญชีรายชื่อผู้เข้าประมูลราคาเอกสารหมาย จ.32 ภาพถ่ายการขายทอดตลาดหมาย จ.33 สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.34 ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.35 และหนังสือรายงานการขายทอดตลาดของผู้ดำเนินการขายทอดตลาดเอกสารหมาย จ.37 ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์มิได้นำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาดได้เงิน 2,000,000 บาท โดยมีส่วนต่างกับราคาสินค้าที่โจทก์ตกลงขายให้แก่ลูกค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 800,000 บาท แล้วนำไปรวมกับค่าใช้จ่ายในการส่งออกที่กำหนดให้อีก 50,000 บาท เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 850,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว สินค้าพิพาทตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.20 และ ล.1 คืออาหารกุ้งจำนวน 4,480 ถุง พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 บัญญัติว่า “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่าหน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถึง ตู้ ม้วน ลัง ลูก หีบ ห่อ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น หน่วยการขนส่งในการขนส่งครั้งนี้จึงได้แก่ 4,480 หน่วย ซึ่งผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วย การขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้คือ 44,800,000 บาท ค่าเสียหายที่กำหนดจำนวน 850,000 บาท จึงอยู่ในวงเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่าต้องรับผิดไม่เกิน 72,944 บาท จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 4 ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share