แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีภาษีบำรุงท้องที่ต้องถือตามจำนวนเงินค่าภาษีที่มีการโต้แย้งการประเมินเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินแต่ละแปลงแยกจากกันเป็นแต่ละข้อหา การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกในที่ดินพิพาทด้วยตนเองตลอดมา เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละข้อหาไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ปท 0018/45179 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 และการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2548 ตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ ปท 52202/126 ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 โดยให้จำเลยเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2548 ในอัตราปีละ 877.85 บาท หรืออัตราที่ถูกต้องเหมาะสมตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3561, 3562, 3563, 1188 และ 1574 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2545 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2548 สำหรับที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าว เจ้าพนักงานของจำเลยไปตรวจสอบสภาพที่ดินของโจทก์แล้วมีความเห็นว่า ที่ดินทั้ง 5 แปลงมีลักษณะเป็นที่ดินทิ้งไว้ว่างเปล่าโดยไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน เว้นแต่บางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ที่โจทก์ให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์โดยปลูกพืชล้มลุก จึงประเมินให้โจทก์ชำระภาษีบำรุงที่ดินประจำปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2548 โดยใช้ราคาปานกลางของที่ดินที่ประเมินไร่ละ 80,000 บาท ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2520 คำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 คิดเป็นเงินค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 3561 จำนวน 2,194.73 บาท โฉนดเลขที่ 3562 จำนวน 2,427.75 บาท โฉนดเลขที่ 3563 จำนวน 2,430.68 บาท โฉนดเลขที่ 1188 จำนวน 45,552.98 บาท และโฉนดเลขที่ 1574 จำนวน 14,307.15 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ปีละ 66,913.29 บาท โดยแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ตามหนังสือที่ ปท 52202/126 ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีขอให้ยกเลิกการประเมิน โดยอ้างว่าโจทก์ทำนาบัวในที่ดินทั้ง 5 แปลงตลอดมา จึงควรเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงินปีละ 877.85 บาท ตามหนังสืออุทธรณ์ (ภ.บ.ท. 12) ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ปท 0018/45179 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์ใช้ที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ประกอบการกสิกรรมโดยทำนาบัวด้วยตนเองหรือไม่ เห็นว่า ภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินโดยคำนวณจากราคาปานกลางของที่ดินและอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจึงต้องคำนึงที่ตั้ง ขนาดเนื้อที่ และลักษณะการใช้ที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลง ดังนี้ การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงต้องถือตามจำนวนเงินค่าภาษีที่มีการโต้แย้งการประเมินเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินแต่ละแปลงแยกจากกันเป็นแต่ละข้อหาเจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2548 เป็นรายปี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 3561, 3562, 3563, 1188 และ 1574 เป็นเงินภาษี 2,194.73 บาท 2,427.75 บาท 2,430.68 บาท 45,552.98 บาท และ 14,307.15 บาท ตามลำดับ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว มีคำวินิจฉัยยืนตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละข้อหาในคดีจึงเกิน 50,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกในที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลงด้วยตนเองตลอดมา เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 แม้ศาลภาษีอากรกลางจะสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์มากก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ