แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับโจทก์ยังมีอำนาจฟ้องและการกระทำของจำเลยตามฟ้องก็เป็นความผิดเมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปภายหลังและความปรากฏขึ้นในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความเท่านั้น ซึ่งจะมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นระงับไปโดยไม่ต้องพิพากษายกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องรวม 2 กระทงให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 60,000 บาทเรียงกระทงลงโทษรวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 120,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โดยให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วโจทก์ยังได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งขอบังคับให้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับอันเป็นเช็คที่ฟ้องในคดีนี้ด้วย ต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 17064/2539 หมายเลขแดงที่ 11654/2540 ของศาลแพ่ง
คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทั้งสอง ในคดีแพ่งดังกล่าวทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งอันเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับในคดีนี้แล้ว ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเช็คพิพาททั้งสองฉบับระงับสิ้นไป และโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 หนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนี้ ต้องถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 กรณีมิใช่เรื่องการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ดังที่โจทก์อ้างในฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเสียนั้นไม่ถูกต้องเพราะขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับโจทก์ยังมีอำนาจฟ้องและการกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องก็เป็นความผิดเมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปภายหลังและความปรากฏขึ้นในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความเท่านั้น ซึ่งจะมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นระงับไปโดยไม่ต้องพิพากษายกฟ้องศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ