คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2391/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์แก่โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1กับโจทก์ตกลงทำสัญญากันขึ้นฉบับหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญาเรียกว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้แก่โจทก์โดยมอบเช็คของบริษัท ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 สลักหลังรวม 20 ฉบับ ถ้าเช็คฉบับใดธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน จำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2 จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้และเมื่อหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ก็ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่าทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4โดยสำคัญผิดว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อเดิม จึงเป็นโมฆะนั้น การสำคัญผิดเช่นนี้มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญ ของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 สัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันเป็นลูกหนี้ที่จะชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดรวมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ได้นำเช็คซึ่งมีบริษัท ก. เป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังรวม 20 ฉบับ ให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ ถ้าเช็คฉบับใดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้เพียง 5 ฉบับ อีก 15 ฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินที่ค้างให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาจำเลยที่ 2 ทำไปโดยสำคัญผิดคิดว่าจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2518 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงทำสัญญากันขึ้นฉบับหนึ่งซึ่งคู่สัญญาเรียกว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามเอกสารหมาย จ.4 มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้แก่โจทก์โดยมอบเช็คของบริษัทกิตติสุนทร จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 2 สลักหลังรวม 20 ฉบับ ถ้าเช็คฉบับใดธนาคารปฏิเสธการใช้เงินจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย และโจทก์ได้รับชำระเงินตามเช็คดังกล่าวเพียงบางส่วนโจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522

คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 หาใช่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อหรือฟ้องเรียกเงินตามเช็คไม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ข้อความในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 แล้วจะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างแทนจำเลยที่ 1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงยอดจำนวนหนี้ที่จะต้องชำระ และมีการผ่อนเวลาที่จะต้องชำระออกไป หาใช่ว่าจำเลยที่ 2 เข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในหนี้เช่าซื้อเดิมดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ก็ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 โดยสำคัญผิดว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อเดิมจึงเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การสำคัญผิดของจำเลยที่ 2 เช่นนี้ มิใช่สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 119 สัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่เป็นโมฆะ

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

Share