คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12873/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองและ ฉ. เป็นทหารเกณฑ์อยู่ในกองร้อย กองบังคับการ กรมทหารช่างที่ 21 ค่ายภาณุรังษี โดยจำเลยทั้งสามพักอยู่ชั้นที่ 2 ของอาคารกองร้อย ส่วนที่เป็นเรือนนอนของทหารใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับห้องคลังอาวุธ ฉ. เป็นทหารเก่าพักอยู่เรือนนอนชั้นล่าง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าเวรอยู่หน้าห้องคลังอาวุธ ฉ. ซึ่งอยู่ในระหว่างได้รับอนุญาตให้ลาหยุดไปเยี่ยมบ้าน ได้กลับเข้ามาในอาคารกองร้อย พบจำเลยที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 3 ยกเก้าอี้เหล็กมาวางด้านข้างห้องคลังอาวุธ แล้วให้ ฉ. เหยียบบ่าจำเลยที่ 3 เพื่อเปิดฝ้าเพดานของเรือนนอนด้านที่ติดกับผนังห้องคลังอาวุธออก แล้วปีนเข้าไปในห้องคลังอาวุธ ใช้คีมตัดเหล็กตัดตาข่ายเหล็กที่สร้างครอบกรงเหล็กที่เก็บรักษาอาวุธปืน แล้วลักอาวุธปืนพกออโตเมติก 4 กระบอก ซองบรรจุกระสุนปืน 2 ซอง ของกรมทหารช่างที่ 21 กระทรวงกลาโหม ผู้เสียหาย หลังจากนั้น ฉ. ปีนขึ้นฝ้าเพดานออกมาตามทางเดิมและกระโดดลงมาโดยมีจำเลยที่ 3 คอยรับ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็น ฉ. เข้าไปในเรือนนอนชั้นบนเป็นเวลานานและเห็นจำเลยที่ 3 ยกเก้าอี้เข้าไปด้วย อีกทั้งได้ยินเสียงดังผิดปกติ แต่ไม่ได้เข้าไปตรวจดู และเมื่อ ฉ. ออกจากเรือนนอนพร้อมอาวุธปืน 4 กระบอก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอดูอาวุธปืน โดยจำเลยที่ 1 ขออาวุธปืนจาก ฉ. จำนวน 1 กระบอก พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบว่า ฉ. เข้าไปลักอาวุธปืนในห้องคลังอาวุธ แต่ไม่ห้ามปราม ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ให้ความช่วยเหลือโดยให้ ฉ. ปีนขึ้นไปบนเพดานเพื่อเข้าไปลักอาวุธปืน จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามรู้เห็นเป็นใจและให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ฉ. ในขณะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 335, 336 ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 8 เดือน คำให้การของจำเลยทั้งสามในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามและพลทหารเฉลิมชาติ เป็นทหารเกณฑ์อยู่ในกองร้อย กองบังคับการ กรมทหารช่างที่ 21 ค่ายภาณุรังษี โดยจำเลยทั้งสามพักอยู่ชั้นที่ 2 ของอาคารกองร้อย ส่วนที่เป็นเรือนนอน ซึ่งอยู่ติดกับห้องคลังอาวุธ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2547 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าเวรอยู่หน้าห้องคลังอาวุธ ส่วนพลทหารเฉลิมชาติซึ่งอยู่ในระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดไปเยี่ยมบ้าน ได้กลับเข้าไปในอาคารกองร้อย เปิดฝ้าเพดานของเรือนนอนด้านที่ติดกับผนังห้องคลังอาวุธออก แล้วปีนเข้าไปในห้องคลังอาวุธ จากนั้นใช้คีมตัดตาข่ายเหล็กที่สร้างครอบกรงเหล็กซึ่งเป็นที่เก็บรักษาอาวุธปืน แล้วลักเอาอาวุธปืนพกออโตเมติก ขนาด 11 มม. จำนวน 4 กระบอก และซองบรรจุกระสุนปืนขนาดเดียวกัน จำนวน 2 ซอง รวมราคา 29,268 บาท ของกรมทหารช่างที่ 21 กระทรวงกลาโหม ผู้เสียหายไป โดยใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและการพาทรัพย์ไป เจ้าพนักงานตำรวจจับพลทหารเฉลิมชาติพร้อมทรัพย์ที่ลักไปทั้งหมด กับคีมตัดเหล็ก 1 อัน และรถจักรยานยนต์ 1 คัน ที่ใช้ในการกระทำความผิดได้เป็นของกลาง ต่อมากรมทหารช่างที่ 21 ส่งตัวจำเลยทั้งสามให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้พลทหารเฉลิมชาติ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามได้สนับสนุนพลทหารเฉลิมชาติเข้าลักทรัพย์อย่างไรบ้างก็ตาม แต่โจทก์มีพันตำรวจโทบุญมี พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานแจ้งข้อหาแก่พลทหารเฉลิมชาติเช่นเดียวกับในชั้นจับกุม พลทหารเฉลิมชาติให้การรับสารภาพ พยานได้บันทึกคำให้การของพลทหารเฉลิมชาติไว้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งพลทหารเฉลิมชาติให้การโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับหรือขู่เข็ญใด ๆ พร้อมทั้งนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ส่วนจำเลยทั้งสามพยานก็แจ้งข้อหาเช่นเดียวกับพลทหารเฉลิมชาติ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา ซึ่งพันตำรวจโทบุญมี เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักพลทหารเฉลิมชาติและจำเลยทั้งสามมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความหรือสร้างหลักฐานโดยบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพลทหารเฉลิมชาติ เป็นเท็จเพื่อปรักปรำใส่ร้ายพลทหารเฉลิมชาติหรือจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด เชื่อว่าพลทหารเฉลิมชาติให้การอย่างไร พันตำรวจโทบุญมีก็บันทึกไปเช่นนั้น เมื่อพิเคราะห์คำให้การของพลทหารเฉลิมชาติแล้วระบุว่า วันเกิดเหตุพลทหารเฉลิมชาติเข้าไปที่กองร้อย กองบังคับการ กรมทหารช่างที่ 21 พบจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเข้าเวรรักษาการณ์คลังอาวุธ พลทหารเฉลิมชาติบอกกับจำเลยที่ 1 ว่าจะเข้าไปลักอาวุธปืนภายในห้องคลังอาวุธ ต่อมาพลทหารเฉลิมชาติพบจำเลยที่ 3 ซึ่งกลับมาจากงานลอยกระทง พลทหารเฉลิมชาติจึงบอกจำเลยที่ 3 ถึงการลักอาวุธปืนในห้องคลังอาวุธ และขอให้จำเลยที่ 3 ยกเก้าอี้เหล็กมาวางด้านข้างห้องคลังอาวุธ และให้พลทหารเฉลิมชาติขึ้นเหยียบบ่าจำเลยที่ 3 เพื่อเปิดฝ้าเพดาน แล้วปีนขึ้นไปที่เพดานห้องคลังอาวุธ แล้วเปิดฝ้าเพดานลงตรงกลางห้องคลังอาวุธ จากนั้นใช้คีมตัดเหล็กตัดตาข่าย จำนวน 2 ชั้น ออกเอามือล้วงหยิบอาวุธปืนจำนวน 4 กระบอก มาพกไว้ที่เอว และหยิบแมกกาซีนอีก 2 อัน บริเวณตู้อะไหล่ อาวุธปืนมาใส่กระเป๋า จากนั้นก็ปีนขึ้นฝ้าเพดานออกมาทางเดิมที่เข้าไป โดยกระโดดลงมีจำเลยที่ 3 คอยรับ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คอยดูต้นทางตลอดเวลา เมื่อได้อาวุธปืนแล้วเดินออกมาหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองขอดูอาวุธปืน จำเลยที่ 1 ขออาวุธปืนจากพลทหารเฉลิมชาติ จำนวน 1 กระบอก แต่พลทหารเฉลิมชาติไม่ให้ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยทั้งสามว่า วันเกิดเหตุพลทหารเฉลิมชาติเข้ามาพูดคุยกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วเข้าไปพูดคุยกับจำเลยที่ 3 ซึ่งกลับมาจากงานลอยกระทงเห็นจำเลยที่ 3 เดินออกมาที่บริเวณหน้าห้องคลังอาวุธและยกเก้าอี้เข้าไปในเรือนนอน หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ได้ยินเสียงคนกระโดดลงจากที่สูง และเห็นพลทหารเฉลิมชาติเดินออกมาจากเรือนนอน ถืออาวุธปืนออกมารวม 4 กระบอก จำเลยที่ 1 พูดขออาวุธปืนจากพลทหารเฉลิมชาติจำนวน 1 กระบอก พลทหารเฉลิมชาติไม่ให้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งบันทึกคำให้การของพลทหารเฉลิมชาติ นั้น ทำขึ้นหลังวันเกิดเหตุเพียงวันเดียว มีรายละเอียดต่อเนื่องกันเป็นขั้นเป็นตอนสมเหตุผล โดยยังไม่มีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องให้แตกต่างไปจากความเป็นจริงได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่า พลทหารเฉลิมชาติมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสามมาก่อน ทั้งข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของพลทหารเฉลิมชาติดังกล่าว ก็ไม่ได้ก่อประโยชน์ให้แก่พลทหารเฉลิมชาติในอันที่จะเป็นเหตุให้ตนเองพ้นผิดแต่อย่างใด น่าเชื่อว่าพลทหารเฉลิมชาติให้การไว้ตามความจริง อีกทั้งจำเลยทั้งสามก็ไม่ได้โต้แย้งว่าบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนความจริงหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใด จึงรับฟังได้ว่ามีข้อเท็จจริงตามที่พลทหารเฉลิมชาติและจำเลยทั้งสามให้การไว้ และได้ความจากคำเบิกความของสิบโทชิษณุพงศ์ว่า อาคารกองร้อยที่เกิดเหตุมี 2 ชั้น ชั้นบนเป็นคลังเก็บอาวุธและโรงนอนของทหารใหม่ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องนอนของพลทหารเก่า ขณะเกิดเหตุพลทหารเฉลิมชาติเป็นทหารเก่าจะนอนที่โรงนอนชั้นล่าง เมื่อพิจารณาว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่อยู่เวรหน้าห้องคลังเก็บอาวุธเมื่อเห็นพลทหารเฉลิมชาติเข้าไปในเรือนนอนชั้นบนเป็นเวลานานและเห็นจำเลยที่ 3 ยกเก้าอี้เข้าไปในเรือนนอน อีกทั้งยังได้ยินเสียงผิดปกติ น่าที่จะเข้าไปตรวจดู และเมื่อพลทหารเฉลิมชาติออกจากเรือนนอนและมีอาวุธปืนออกมาถึง 4 กระบอก ยังได้ความว่า จำเลยที่ 1 ขออาวุธปืนจากพลทหารเฉลิมชาติ 1 กระบอกอีกด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบว่า พลทหารเฉลิมชาติเข้าไปลักอาวุธปืนในห้องคลังอาวุธแต่ไม่ห้ามปราม ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ให้ความช่วยเหลือ โดยให้พลทหารเฉลิมชาติปีนขึ้นไปบนเพดาน จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามรู้เห็นเป็นใจและให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่พลทหารเฉลิมชาติในขณะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share