คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียน และมีอานุภาพร้ายแรง จำเลยมีและพาอาวุธปืนของกลางติดตัวเข้าไปบริเวณชุมนุมชนซึ่งจัดให้มีงานนมัสการการรื่นเริงและการแสดงมหรสพโดยเปิดเผย แม้ไม่มีกระสุนปืนแต่ก็ทำให้เป็นที่หวาดกลัวของสุจริตชน ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยอายุ 20 ปี อยู่ในวัยที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีพอสมควรแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียน และมีอานุภาพร้ายแรง จำเลยมีและพาอาวุธปืนของกลางติดตัวเข้าไปบริเวณชุมนุมชนซึ่งจัดให้มีงานนมัสการพระแท่นบัลลังก์ การรื่นเริงและการแสดงมหรสพโดยเปิดเผย แม้ไม่มีกระสุนปืนแต่ก็ทำให้เป็นที่หวาดกลัวของสุจริตชน ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยอายุ 20 ปีอยู่ในวัยที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีพอสมควรแล้ว ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจวางโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี โดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ รวมจำคุก 2 ปี และลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share