คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1852/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ การที่คำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกกล่าวและให้ถ้อยคำรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งสองว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งคนหางานจะต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่เคยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้ดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป รวมทั้งนางสาวสถิตต์ อุตรหงส์ ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาวบานชื่น สาริศรี ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งประสงค์จะทำงานในต่างประเทศที่ประเทศเยอรมัน โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทนจากผู้เสียหายทั้งสอง โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยบอกกล่าวและให้ถ้อยคำรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งสองว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานในประเทศเยอรมันได้ และจะได้รับค่าจ้างสูง ซึ่งคนหางานจะต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวก อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่เคยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้ดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้ และโดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นความจริง และชำระเงินค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกคนละ 73,000 บาท รวมเป็นเงิน 146,000 บาท จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2691/2544, 2867/2544 และ 3060/2544 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 73,000 บาท และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1521/2545 และ 1523/2545 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2867/2544 ของศาลชั้นต้นด้วยนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 73,000 บาท รวมเป็นเงิน 146,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 คดีนี้แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป รวมทั้งผู้เสียหายทั้งสองซึ่งประสงค์จะทำงานในประเทศเยอรมัน โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นการตอบแทน อันเป็นการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยบอกกล่าวและให้ถ้อยคำรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งสองว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่ประเทศเยอรมัน จะได้รับค่าจ้างสูง ซึ่งคนหางานจะต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่เคยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้ดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า สมควรลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานที่ต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยกับพวกไปคนละ 73,000 บาท รวมเป็นเงิน 146,000 บาท โดยความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดนับว่าเป็นการหลอกลวงและกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคมให้ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share