คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยและใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายนั้นไม่ครบองค์ความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยทั้งสองนั่งรถยนต์กระบะซึ่งมี ว. เป็นผู้ขับมา กระทำความผิดก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้ แต่ลงโทษฐานชิงทรัพย์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีและพาอาวุธปืนลูกซองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนติดตัวและใช้รถยนต์กระบะเป็นพาหนะร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 340,340 ตรี, 83, 91 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ ริบของกลางและให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้รับคืนแก่ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 340 ทวิ วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83, 90ลงโทษตามมาตรา 340 ทวิ วรรคท้ายซึ่งเป็นบทหนัก ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ริบของกลางให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 340 ทวิ วรรคท้าย, 340 ตรีด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป ปัญหาต่อไปมีว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฟ้องบรรยายว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยและใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์ที่บรรยายหรือกล่าวมาในฟ้องไม่ครบองค์ความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยทั้งสองนั่งรถยนต์กระบะซึ่งมีนายวิรัตน์ ศรีนวล เป็นผู้ขับมากระทำความผิด ก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้ แต่ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 339 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 339 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดให้ประหารชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้ตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share