คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1916/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง แม้คำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคนหางานไปทำงานรับจ้างทำถนนที่ไต้หวันโดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยกับพวกสามารถหางานรับจ้างทำถนนในใต้หวัน และสามารถจัดให้ผู้เสียหายทำงานรับจ้างทำถนนในไต้หวันได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและจะได้รับค่าจ้างอันเป็นความเท็จทั้งสิ้น เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์ ถือได้ว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อสวนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) สำหรับคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายนั้น เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปแล้ว ย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ดังกล่าวตกไปด้วย ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 43 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงยกคำขอในส่วนคดีแพ่งของโจทก์ด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเช่นเดียวกัน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี และให้จำเลยใช้เงิน 115,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ให้จำเลยใช้เงิน 115,000 บาท แก่นายประวัติ งามแยะ ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า การจะเป็นผู้กระทำความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาจัดหางานตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 คดีนี้แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคนหางานไปทำงานรับจ้างทำถนนที่ไต้หวัน โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยกับพวกสามารถหางานรับจ้างทำถนนในไต้หวัน และสามารถจัดให้ผู้เสียหายทำงานรับจ้างทำถนนในไต้หวันได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย และจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดหางานรับจ้างทำถนนในไต้หวันได้โดยถูกต้องตามกฎหมายและในอัตราค้าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ได้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยฟัง นายประวัติ งามแยะ ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า ผู้เสียหายได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์โดยโจทก์รับว่าเป็นผู้เสียหายจริง ปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ถือได้ว่าผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และสำหรับคำขอในส่วนคดีแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 115,000 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับไปแล้ว ย่อมทำให้คำขอในส่วนคดีแพ่งของโจทก์ดังกล่าวตกไปด้วย ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ อีกทั้งเพราะราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2525 ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงเห็นสมควรยกคำขอในส่วนคดีแพ่งของโจทก์เสียด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเช่นเดียวกัน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกาแต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 225
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายซึ่งเป็นคนหางานว่า จำเลยสามารถหางานที่ต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายได้ จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยกับพวกไปจำนวนมากถึง 115,000 บาท โดยความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กล่าวอ้างได้นั้น ลักษณะของความผิดนับว่าเป็นการหลอกลวงและกระทำซ้ำเติมต่อประชาชนผู้ซึ่งยากไร้และด้อยโอกาสในสังคม ให้ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย จนผู้เสียหายพอใจและขอถอนคำร้องทุกข์แล้วก็ตามก็มีผลเพียงแต่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ดังที่วินิจฉัยไปข้างต้นแล้วเท่านั้น แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำและมิได้ระงับไปด้วยนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องร้ายแรงอยู่ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานฉ้อโกงเสียจากสารบบความ และยกคำขอให้จำเลยให้เงิน 115,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

Share