คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17095/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าที่ดิน น.ค.3. จาก ม. เพื่อทำไร่อ้อย มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 6 ปี การปลูกอ้อยของโจทก์เป็นการอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าและต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ทั้งสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับ ม. ก็ไม่มีข้อความใดระบุให้ต้นอ้อยหรือตออ้อยตกเป็นสิทธิของ ม. หลังสัญญาเช่าเลิกกัน ดังนั้น การที่ ม. ตกลงเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์หลังจากโจทก์ตัดอ้อยของปีที่ 4 และ ม. ขายที่ดินแก่ ล. ก็ไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยตกไปเป็นของ ล. แม้ ล. จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ก็ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างนำรถเข้าไถตออ้อยของโจทก์โดยพลการ แม้จำเลยจะกระทำตามคำสั่งของ ล. เจ้าของที่ดิน แต่จำเลยก็ทราบว่าตออ้อยเป็นของโจทก์ซึ่งเช่าที่ดินจาก ม. ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 204,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 37,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนายมนตรี เพื่อทำไร่อ้อยมีกำหนดอายุสัญญา 6 ปี นับแต่วันทำสัญญา และมีการตกลงเลิกสัญญากันหลังจากโจทก์ตัดอ้อยของปีที่ 4 โดยยังคงมีตออ้อยเหลืออยู่ในที่ดินที่เช่า นายลำดวน บิดาภริยาจำเลยซื้อที่ดินจากนายมนตรีเนื้อที่ประมาณ 78 ไร่ รวมที่ดินที่โจทก์เช่า จำเลยนำรถไถเข้าไถที่ดินที่โจทก์เช่าจากนายมนตรีทำให้ตออ้อยได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า นายมนตรีทำสัญญาขายที่ดินและส่งมอบที่ดินให้นายลำดวนแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมโอนไปยังนายลำดวน การที่นายลำดวนใช้ให้จำเลยเข้าไปไถที่ดินจึงเป็นการกระทำไปโดยสิทธิของเจ้าของที่ดิน ทั้งจำเลยกระทำไปโดยสุจริตตามคำสั่งของนายลำดวน จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดนั้น เห็นว่า การปลูกต้นอ้อยของโจทก์เป็นการอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าและต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ทั้งสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับนายมนตรีก็ไม่มีข้อความใดระบุให้ต้นอ้อยหรือตออ้อย ตกเป็นสิทธิของนายมนตรีหลังจากสัญญาเช่าเลิกกัน ดังนั้น การขายที่ดินของนายมนตรีให้แก่นายลำดวนไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยตกไปเป็นของนายลำดวนแต่อย่างใด แม้นายลำดวนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังที่จำเลยอ้าง ก็ไม่มีอำนาจที่จะตัดตออ้อยของโจทก์โดยพลการ แต่การที่จำเลยซึ่งกระทำไปตามคำสั่งของนายลำดวนต้องรับผิดฐานละเมิดหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าความเข้าใจของจำเลยเป็นไปโดยจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า วันเกิดเหตุจำเลยได้เข้าไปดูสภาพที่ดิน ขณะนั้นมีตออ้อยของโจทก์ซึ่งเช่าที่ดินของนายมนตรี จำเลยจึงสั่งให้คนงานไถที่ดิน คำเบิกความแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบดีว่าตออ้อยไม่ใช่ทรัพย์สินของนายลำดวน แม้จะเป็นการกระทำโดยคำสั่งของนายลำดวนเจ้าของที่ดิน แต่ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยต้องรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของตน ที่จำเลยฎีกาว่า ตออ้อยมีอายุประมาณ 3 ถึง 4 ปี และต้องรื้อถอนแล้วปลูกพันธุ์อ้อยใหม่ หากปล่อยไว้ต่อไปจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โจทก์ตัดอ้อยในปีที่ 4 ตออ้อยจึงหมดอายุไม่อาจใช้เป็นพันธุ์ได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์จึงไม่ถูกต้องนั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า อายุของต้นอ้อยที่ปลูกลงในแต่ละครั้งนั้นสามารถใช้ตอเดิมให้ผลผลิตได้ถึง 6 ปี สอดคล้องกับสัญญาเช่าที่ดินและคำเบิกความของนายมนตรีที่ว่า ในปีที่ 4 แม้ต้นอ้อยจะเหลือเพียงตอ แต่หากปริมาณฝนปีนั้นมาก ตออ้อยจะแตกกิ่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ จำเลยไม่ได้ปฏิเสธความข้อนี้ คงโต้แย้งเพียงว่าตออ้อยจะให้ผลผลิตดีในช่วง 3 ปี เท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตออ้อยที่มีอายุเกินกว่า 3 ปี ยังสามารถให้ผลผลิตได้ไม่มากก็น้อย หาใช่หมดอายุที่จะเก็บเกี่ยวดังที่จำเลยอ้างไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราไร่ละ 2,500 บาท นับว่าเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share