คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17282/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ใน ป.อ. มาตรา 18 และหากเป็นโทษในลำดับเดียวกันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทหนักกว่า และเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้วก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียว ถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำ ศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 (3), 54, 57 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินรางวัล (ที่ถูก เงินสินบน) แก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา (ที่ถูก ไม่ต้องระบุมาตรา 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคหนึ่ง), 35 (ที่ถูก ไม่ต้องระบุมาตรา 35) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง, 57 (ที่ถูก ไม่ต้องระบุมาตรา 57) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และฐานร่วมกันตัดโค่นต้นไม้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 9 เดือน จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 4 เดือน 15 วัน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและฐานร่วมกันตัดโค่นต้นไม้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และฐานร่วมกันตัดโค่นไม้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ความผิดฐานใดเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท ส่วนความผิดฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3) และ 54 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และหากเป็นโทษในลำดับเดียวกันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทหนักกว่า และเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้วก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียว ถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำ ศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share