แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญากู้เงินระบุว่า เมื่อสัญญาครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญานี้ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะให้สัญญาสิ้นสุดลงในทันทีที่สัญญาครบกำหนดในแต่ละปี แต่ถือเอาการบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ การที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดตามสัญญา คงมีผลทำให้ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมด และเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีตามสัญญาเท่านั้น แต่ตราบใดที่ผู้ให้กู้ยังมิได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมด สัญญากู้ยังมีผลต่อไป เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 7 วัน ถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 มีผลให้สัญญาเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 และเริ่มนับอายุความเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
จำเลยที่ 1 มีดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นมาตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยที่มีกำหนดเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 59,556.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 19,361.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาพิษณุโลก ได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์เลขที่ 601-1-44869-0 เพื่อรับเงินเดือนจากหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ในการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 1 สามารถถอนเงินโดยใช้ใบถอนเงินฝาก หรือใช้บัตรซึ่งเรียกว่าบัตรกรุงไทย เอ.ที.เอ็ม ถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 ขอใช้บริการสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏโดยทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏกับโจทก์วงเงิน 21,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ภายในวันที่สิ้นสุดของเดือน กำหนดชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาและมีข้อตกลงว่าหากหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อใดและไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันทีตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้ใบถอนเงินถอนเงินด้วยตนเอง และใช้บัตรกรุงไทย เอ.ที.เอ็ม ถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติและเป็นหนี้โจทก์จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 จำนวน 28.99 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยแล้ว มีหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 212.91 บาท และมีหนี้ต้นเงินในวันดังกล่าวจำนวน 19,361.41 บาท ตามรายการบัญชีของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.7 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้อีก และหน่วยงานของจำเลยที่ 1 มิได้นำเงินเดือนของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีดังกล่าวอีก โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 27 มกราคม 2538 ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.11 และ จ.13 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 ตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.12 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.14 แต่มิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์สำหรับต้นเงินขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 ระบุถึงสิทธิในการเลิกสัญญาว่า สัญญาจะเลิกกันเมื่อคู่สัญญาบอกเลิกสัญญา ตราบใดที่คู่สัญญายังมิได้บอกเลิกสัญญา สิทธิเรียกร้องก็ยังไม่เริ่มนับ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 27 มกราคม 2538 ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินที่ค้างชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ สิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า แม้ว่าตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 จะระบุว่า ผู้กู้จะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญา โดยผู้กู้ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุก ๆ เดือนติดต่อกันภายในวันที่สิ้นสุดของเดือน และสัญญาข้อ 7 ระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดข้อหนึ่งข้อใด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งสัญญานี้ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 8 ระบุว่า เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญานี้ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้บอกเลิกสัญญา และหากผู้ให้กู้บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ตาม ผู้กู้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดในทันที แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะให้สัญญาสิ้นสุดลงในทันทีที่ครบกำหนดในแต่ละปี แต่ถือเอาการบอกเลิกสัญญาของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ การที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดตามสัญญา ข้อ 1 คงมีผลทำให้ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมด และเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีตามสัญญาข้อ 7 เท่านั้น แต่ตราบใดที่ผู้ให้กู้ยังมิได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏก็ยังมีผลต่อไป คู่สัญญาต้องผูกพันกันตามสัญญาดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏครบกำหนดแต่ละปี โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็มิได้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกัน ถือว่าสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้บอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินทั้งหมดคืน อายุความฟ้องเรียกต้นเงินจึงยังไม่เริ่มนับ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2534 แล้วไม่ชำระหนี้อีก และหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำเงินเดือนของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 อีก จึงมีเหตุที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ตามสัญญาข้อ 4 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 27 มกราคม 2538 ให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 7 วัน เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 จำเลยที่ 1 ต้องชำระต้นเงินแก่โจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินแก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นฟ้องคดี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์สำหรับต้นเงินจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าหนี้สำหรับต้นเงินขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ” ข้อเท็จจริงได้ความจากรายการบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.7 ว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 จำนวน 28.99 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน คงมีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 212.91 บาท ในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 19,361.41 บาท จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมา โจทก์สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยที่มีกำหนดเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปย่อมขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยขาดอายุความทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 19,361.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 3,000 บาท