คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3187/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ป. ต่อมา ป. ได้ขายให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ดินเป็นของผู้อื่นเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เองจึงไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องการแย่งการครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เลขที่ดิน 84 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้จำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตลอดจนขนย้ายวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ออกจากที่ดิน และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดิน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกจากที่ดิน
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การกับฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เลขที่ดิน 84 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เลขที่ดิน 84 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้จำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายสิ่งของวัสดุต่าง ๆ ออกจากที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ10,000 บาท นับจากวันฟ้อง (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายปานเป็นบุตรนายดวง จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยนายดวง จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2538 โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 149 เลขที่ดิน 84 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทมาจากนายปานตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2535 โจทก์และสามีไปทำธุรกิจที่เกาะลันตา นายปานรับจ้างสามีโจทก์ขับแพบรรทุกเสาไฟฟ้าจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะลันตา นายปานบอกโจทก์ว่านายปานเป็นหนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากระบี่ และไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารยึดที่ดินพิพาทของนายปานและอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด นายปานขอให้โจทก์ช่วยซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้ลูกหลานนายปานอยู่อาศัยต่อไป นายปานบอกว่าบนที่ดินพิพาทมีบ้านปลูกอยู่ 2 หลัง นายปานจะดูแลที่ดินพิพาทและบ้านให้ โจทก์ไปดูที่ดินพิพาทและตรวจสอบกับนายอุดร จ่าศาลจังหวัดกระบี่ รวมทั้งตรวจสอบที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากระบี่ พบว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายปานและถูกธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากระบี่ ยึดจริง โจทก์จึงซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน 2 หลัง จากนายปาน ต่อมาอีกประมาณ 2 เดือน โจทก์ไปดูที่ดินพิพาทพบนายตะหว้าด ซึ่งเป็นหลานนายปานและภริยาอาศัยอยู่ในบ้านไม้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อาศัยอยู่ในบ้านไม้ และนายวิษณุ อาศัยอยู่ในบ้านก่ออิฐถือปูน นายปานบอกว่านายวิษณุเป็นบุตรของตน ส่วนคนอื่น ๆ เป็นหลานและหลานเขย นายปานเรียกบุคคลทั้งสามครอบครัวมาพบโจทก์ ทั้งหมดขออาศัยอยู่บนที่ดินพิพาทและรับว่าจะย้ายออกหากโจทก์ต้องการที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2544 นายปานถึงแก่กรรม โจทก์ไปร่วมงานศพซึ่งจัดที่บ้านนายปานตั้งอยู่บนที่ดินอีกแปลงหนึ่งตรงข้ามที่ดินพิพาท โจทก์บอกลูกหลานนายปานว่าโจทก์จะขายที่ดินพิพาท ลูกหลานนายปานรับว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินพิพาทแต่ขอเวลาหาที่อยู่ใหม่ ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2545 โจทก์เห็นร้านค้าปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นของตนและจะรื้อถอน โจทก์ยังเห็นมีต้นปาล์มปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 บอกว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนปลูก เมื่อโจทก์สอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อ้างว่าปลูกอยู่ในเขตที่ดินของตนเองซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้ตรวจสอบแนวเขตที่ดิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ปลูกต้นปาล์มรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินพิพาท ประมาณเดือนมิถุนายน 2545 นายวิษณุย้ายออกจากที่ดินพิพาทโดยโจทก์ช่วยเหลือค่าขนย้ายและให้ค่าตอบแทนที่นายวิษณุเคยช่วยเหลือธุรกิจโจทก์เป็นเงิน 350,000 บาท ต่อมานายตะหว้าดกับภริยาย้ายออกจากที่ดินพิพาทโดยโจทก์ช่วยเหลือค่าขนย้าย 35,000 บาท วันที่ 13 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย้ายออกจากที่ดินพิพาทโดยโจทก์ช่วยเหลือค่าขนย้าย 200,000 บาท โจทก์ยังมีนายวิษณุเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นบุตรของนายปาน ที่ดินพิพาทเป็นของนายปาน พยานเคยปลูกบ้าน ในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายปาน พยานได้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาทโดยได้รับค่าขนย้ายจากโจทก์ 350,000 บาท พยานได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในการที่นายตะหว้าดรับเงินค่าขนย้ายจากโจทก์ด้วย พันตำรวจเอกอดิศักดิ์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2546 ซึ่งขณะนั้นพยานรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับดาบตำรวจพรรณโย ฝ่ายหนึ่ง กับโจทก์อีกฝ่ายหนึ่งมาพบพยานแจ้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 บุกรุกที่ดินของโจทก์ ขอให้พยานทำบันทึกข้อตกลงค่าขนย้าย พยานจึงจัดทำให้ตามความประสงค์นายสุชาติพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า พยานรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 7 สำนักงานที่ดินอำเภอเกาะลันตา จากการตรวจสอบสำเนาสารบบของที่ดินพิพาทที่ส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลพบว่า เดิมที่ดินแปลงนี้มีนายปานจับจองโดยมีการรังวัดและสอบสวน สำเนาประกาศเรื่องมีผู้ขอจับจองที่ดิน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2494 ปี 2494 ได้รับใบเหยียบย่ำที่ดิน ปี 2498 ได้รับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ปีเดียวกันนายปานขอออกเอกสารสิทธิแบบหมายเลข 3 และปี 2532 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และโจทก์มีนายปราโมทย์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2532 พยานรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน สำนักงานที่ดินอำเภอเกาะลันตา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2532 นายปานนำเอกสารสิทธิแบบหมายเลข 3 ของที่ดินพิพาทมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) พยานตรวจสอบรังวัดพบว่า ด้านทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทจดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของนายโกวิทย์นายโกวิทย์ได้ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน ส่วนจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แต่งงานกับนางห่าเดี้ยะ ซึ่งเป็นน้องนายปานแล้ว จำเลยที่ 1 กับภริยาอาศัยอยู่ที่บ้านนายดวงซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินพิพาท ต่อมาอีกประมาณ 2 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 กับภริยามีบุตรคนแรก นายดวงให้จำเลยที่ 1 และภริยาแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากโดยชี้ที่ดินพิพาทให้ นายดวง ยังแบ่งที่ดินโดยชี้ที่ดินให้ลูกคนอื่น ๆ ด้วยจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านบนที่ดินพิพาท ปลูกต้นมะม่วง ต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นมะพร้าว พืชผักสวนครัว จำเลยที่ 1 ให้บุตรปลูกบ้านอาศัยบนที่ดินพิพาทด้วย นายปานไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องที่นายปานขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ยังมีนายลิ่ม ซึ่งเป็นพี่ชายนางห่าเดี้ยะเป็นพยานเบิกความว่า บิดายกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา เห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลซึ่งไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่ความและพยานเอกสารมาประกอบแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาท ซึ่ง มีข้อความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2493 นายนิยม กำนันตำบลเกาะลันตา นายดวงผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 นายปานและนายสอาดเจ้าของที่ดินข้างเคียงร่วมกันรังวัดและสอบสวนที่ดินที่นายปานจับจอง และตามสำเนาประกาศเรื่องมีผู้ขอจับจองที่ดิน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2494 มีข้อความโดยสรุปว่า กรมการอำเภอเกาะลันตาได้ประกาศให้มหาชนทั้งหลายทราบทั่วกันว่านายปานได้จับจองที่ดิน หากบุคคลใดจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนด 1 เดือน หากต้องการทราบที่ตั้งหรือเขตที่ดินให้สอบถามนายนิยม กำนันตำบลเกาะลันตาใหญ่ และนายดวงพยาน เช่นนี้แสดงว่าทั้งนายนิยมและนายดวงซึ่งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านรับรองการจับจองที่ดินพิพาทของนายปาน ซึ่งปรากฏต่อมาว่านายอำเภอเกาะลันตาได้ออกใบเหยียบย่ำที่ดินให้นายปานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2494 ตามสำเนาใบเหยียบย่ำที่ดิน ส่วนสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ที่มีชื่อนายปานเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทนั้น ปรากฏว่ามีนายดวงลงลายมือชื่อในฐานะผู้ใหญ่บ้านรับรองและมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วย แสดงว่าทั้งนายดวงและจำเลยที่ 1 ยอมรับว่านายปานเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อีกทั้งด้านหลังสำเนาแบบหมายเลข 3 ยังมีข้อความบ่งชี้ว่านายปานเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โดยมีข้อความระบุว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2523 นายปานนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และนายปานไถ่ถอนในปี 2530 นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังได้ความจากนายปราโมทย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน สำนักงานที่ดินอำเภอเกาะลันตา ว่า ในการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้นายปานนั้น ด้านทิศตะวันออกของที่ดินพิพาทจดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของนายโกวิทย์ นายโกวิทย์ได้ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินให้ การกระทำของนายโกวิทย์เช่นนี้ย่อมแสดงว่านายโกวิทย์ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายปาน นายปานยังแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยการนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขากระบี่ เมื่อปี 2535 ด้วย ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมีนายลิ่มบุตรนายดวงเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่านายดวงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ซึ่งหากที่ดินพิพาทเป็นของนายดวงและนายดวงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 จริง จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอออกเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเลยซึ่งแตกต่างจากนายปานที่ขอออกเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินพิพาทเป็นขั้นตอนตลอดมา โดยในการขอเอกสารสิทธิของนายปานนั้น ทั้งนายดวงและจำเลยที่ 1 ยังแสดงออกถึงการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายปานโดยให้การรับรองและเป็นพยานดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าในระหว่างที่ที่ดินพิพาทถูกยึดขายทอดตลาดนั้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 นางห่าเดี้ยะ ภริยาจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอถ่ายสารบบที่ดินพิพาทโดยอ้างว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับที่ดินพิพาทจะนำเอกสารไปติดต่อศาลจังหวัดกระบี่ กรณีน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกยึดขายทอดตลาดเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ หากจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจริง จำเลยที่ 1 น่าจะต้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน อีกทั้งเมื่อโจทก์แจ้งความประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท บรรดาญาติของจำเลยที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ได้แก่ ครอบครัวของนายตะหว้าด ซึ่งเป็นหลานนายปาน ครอบครัวของนายวิษณุซึ่งเป็นบุตรนายปาน และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรและบุตรเขยจำเลยที่ 1 ก็ยอมออกจากที่ดินพิพาทโดยได้รับค่าขนย้ายจากโจทก์ แสดงว่าบรรดาญาติของจำเลยที่ 1 ต่างยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายปานและนายปานขายให้โจทก์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่านายปานนำที่ดินพิพาทไปขอออกเอกสารสิทธิก็ดี นายสุชาติไม่ได้เบิกความว่าปิดประกาศเรื่องการจับจองที่ดินพิพาทของนายปานไว้ที่ใดบ้างก็ดี โจทก์ไม่มีพยานยืนยันลายมือชื่อของนายดวงก็ดี จำเลยที่ 1 จำไม่ได้ว่าลายมือชื่อตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นลายมือชื่อของตนหรือไม่ก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและไม่มีเหตุผลสนับสนุนทั้งขัดต่อพยานเอกสารซึ่งเป็นเอกสารราชการ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายปาน ต่อมานายปานขายให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 กรณีเช่นนี้จึงมิใช่การแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ดินเป็นของผู้อื่นเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เอง จึงไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยเรื่องนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์

Share