คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยถูกจับขณะที่มีเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลย แม้ฟังว่าจำเลยยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางขณะอยู่ในช่วงระหว่างจำเลยรับขน และเมทแอมเฟตามีนของกลางจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน
แม้จำเลยจะให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า จำเลยรับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ผู้ว่าจ้าง แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่าคำให้การดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นมาเองโดยจำเลยไม่ทราบข้อความและข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้อาศัยคำให้การของจำเลยขยายผลจนเป็นเหตุให้มีการจับกุมผู้ว่าจ้างมาดำเนินคดี คดียังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนจึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิได้ฟ้องจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ฉะนั้น เงินค่าจ้างที่จำเลยได้จากผู้ว่าจ้างในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อและโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยใช้ติดต่อกับผู้ว่าจ้างให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อจึงไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 จึงไม่อาจริบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งริบเงินและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ชอบปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 , 7 , 8 , 15 , 66 , 67 , 100/1 , 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบเมทแอมเฟตามีน เงินสด 10,000 บาท โทรศัพท์เลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม ( 2 ) , 66 วรรคสาม , 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 5,000,000 บาท คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 3,333,333 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 , 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน เงินสดจำนวน 10,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยจำนวน 2,100,000 บาท รวมเป็นจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 2,100,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 1,400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลย และยึดเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด เงินสด 10,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 – 1660XXX เป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการสนับสนุนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้แก่ลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้าโลตัส พระรามสอง เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปดักรอจับกุมและพบเห็นรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะของจำเลยตามที่รับแจ้งจากสายลับ จอดอยู่ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จนต่อมาจำเลยเดินหิ้วถุงพลาสติก 1 ถุง มาที่รถจักรยานยนต์ นำถุงพลาสติกดังกล่าวแขวนไว้ที่มือจับด้านหน้ารถพร้อมกับขึ้นคร่อมเตรียมจะขับรถออกไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าจับกุม และตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในถุงพลาสติกกับเงินสด 10,000 บาท ที่ตัวจำเลย ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยรับจ้างนางหอมนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่ลูกค้า โดยวันดังกล่าวจำเลยมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางและรอคำสั่งจากนางหอมว่าจะให้นำไปส่งมอบให้แก่ผู้ใด แต่จำเลยมาถูกจับเสียก่อน ส่วนเงินสดดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างที่นางหอมมอบให้ เห็นว่า จำเลยถูกจับกุมขณะมีเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในความยึดถือครอบครองของจำเลย แม้ฟังว่าจำเลยยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางขณะอยู่ในช่วงระหว่างจำเลยรับจ้างขน และเมทแอมเฟตามีนของกลางจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง ก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องโจทก์ มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนดังจำเลยฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมาว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3 และ จ.6 ว่า จำเลยรับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางให้นางหอม แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่า คำให้การดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นมาเองโดยจำเลยไม่ทราบข้อความ และข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้อาศัยคำให้การของจำเลยขยายผลจนเป็นเหตุให้มีการจับกุมนางหอมมาดำเนินคดี ที่ร้อยตำรวจตรีนฤทธิ์ ผู้จับกุมเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ร้อยตำรวจตรีนฤทธิ์ทราบภายหลังว่ามีการจับกุมนางหอมมาดำเนินคดี ก็ไม่ชี้ชัดว่านางหอมถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยอาศัยตามคำให้การของจำเลยหรือไม่ นางหอมอาจถูกจับเพราะกระทำความผิดคดีอื่น คดียังไม่พอฟังว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอริบเงิน 10,000 บาท โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยได้จากผู้อื่นในการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่ลูกค้า และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยใช้ติดต่อกับผู้ว่าจ้างให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อ เห็นว่า เงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ใช้สื่อสารในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เงินและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่น ซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 จึงไม่อาจริบได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งริบเงิน 10,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้ริบเงิน 10,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share