คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงวันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดและมาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง
คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ซึ่งหากจำเลยทั้งสองจะขอให้พิจารณาใหม่ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับตามตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือคำขอให้พิจารณาใหม่นั้นให้ยื่นต่อศาลใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายังมิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ระยะเวลา 15 วันดังกล่าวจึงยังไม่เริ่มนับ
ศาลชั้นต้นเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 และได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 การส่งคำบังคับโดยการปิดดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วันได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 มิถุนายน 2550 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 13 กันยายน 2550 จึงเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นที่สุด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน พ -7433 สงขลา คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าไม่ส่งคืนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 172,883.22 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540) จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์ยื่นคำขอให้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 ศาลชั้นต้นสั่งให้ออกคำบังคับในวันเดียวกัน เจ้าพนักงานส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองโดยการปิดคำบังคับ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และปิดคำบังคับ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2550 โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 โจทก์จึงต้องบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อโจทก์มายื่นขอออกหมายบังคับคดีพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องออกหมายบังคับคดี ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึง วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุด และมาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ซึ่งกรณีจำเลยทั้งสองซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหากจะขอให้พิจารณาใหม่ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือ คำขอให้พิจารณาใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ระยะเวลา 15 วัน ดังกล่าวจึงยังไม่เริ่มนับ ศาลชั้นต้นเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 และได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2550 และแก่จำเลยที่ 2 โดยการปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 การส่งคำบังคับโดยการปิดดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตามมาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ตามลำดับ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในกำหนดดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 มิถุนายน 2550 การที่โจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีในวันที่ 13 กันยายน 2550 จึงเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share