คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็ค 3 ฉบับของ ก. จำนวน 400,000บาท นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสาขาของจำเลยที่ 1โดยไม่ขอรับเป็นเงินสดแต่ขอเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คแทน จำเลยที่ 2จึงออกแคชเชียร์เช็คในจำนวนเงินดังกล่าวให้ ต่อมาแคชเชียร์เช็คถูกระงับการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตามแคชเชียร์เช็คจากจำเลยที่ 1 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินจำนวนเดียวกันนั้นอีก แม้จะเปลี่ยนแปลงตั้งรูปคดีใหม่เป็นเรียกค่าเสียหายและขอให้คืนเช็ค 3 ฉบับของ ก. แต่ก็เป็นการเรียกเงินตามแคชเชียร์เช็คที่สืบเนื่องจากเช็ค 3 ฉบับของ ก. ตามคดีก่อนนั่นเอง เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นสาขาของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของจำเลยที่ 2จำนวน 3 ฉบับ รวมเงินตามเช็ค 400,000 บาท เช็คทั้ง 3 ฉบับนางกิ่งแก้ว เมืองไพศาล เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแล้วมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาโจทก์นำเช็คทั้ง 3 ฉบับไปยื่นต่อจำเลยที่ 2เพื่อขึ้นเงิน และยื่นคำขอให้จำเลยที่ 2 ออกแคชเชียร์เช็คหรือแคชเชียร์ออเดอร์จำนวนเงิน 400,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินตามเช็คที่นางกิ่งแก้วเป็นผู้สั่งจ่าย ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 ออกแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 400,000 บาท ให้แก่โจทก์ระบุว่า ให้จ่ายตามคำสั่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาหาดใหญ่ ย่านเพชรเกษม เข้าบัญชีเลขที่ 147 8 เมื่อโจทก์นำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่า มีคำสั่งระงับการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ให้ใช้เงินตามแคชเชียร์เช็คศาลพิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2533 หลังจากนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่ง ในข้อหาผิดสัญญาเรียกทรัพย์สินศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2533 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4778/2538 จนบัดนี้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คและไม่ได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความทำหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเช็คทั้ง 3 ฉบับที่นางกิ่งแก้วเป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 แจ้งต่อโจทก์ว่าคืนเช็คทั้ง 3 ฉบับให้แก่โจทก์แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง การที่จำเลยทั้งสองไม่คืนเช็คทั้ง 3 ฉบับให้แก่โจทก์จนพ้นเวลาที่โจทก์จะเรียกเก็บเงินจากนางกิ่งแก้ว ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็ค 400,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเช็คของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 3 ฉบับให้แก่โจทก์และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีข้อตกลงกันระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 และนางกิ่งแก้ว เมืองไพศาล ว่าหากเช็คที่โจทก์นำมาแลกมีปัญหาไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม จำเลยที่ 1 มีสิทธิระงับการจ่ายเงินตามแคชเชียร์เช็ค การปฏิเสธการจ่ายเงินของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว จำเลยที่ 1คืนแคชเชียร์เช็คพร้อมเช็คทั้ง 3 ฉบับให้แก่โจทก์ และนางกิ่งแก้วแจ้งต่อจำเลยที่ 1 ว่าชำระเงินตามเช็คทั้ง 3 ฉบับให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากจำเลยที่ 1อีกทั้งโจทก์เคยนำมูลหนี้ตามแคชเชียร์เช็คมาฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1482/2534 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1467/2528 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์ยังได้นำมูลหนี้เดิมตามสัญญาคำขอให้ออกแคชเชียร์เช็คฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 21100/2534 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23369/2534 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1467/2528 ของ ศาลจังหวัดสงขลาการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ก็มีมูลหนี้มาจากเช็คทั้ง 3 ฉบับและแคชเชียร์เช็คซึ่งขาดอายุความแล้วและโจทก์เคยฟ้องคดี ซึ่งมีมูลหนี้อย่างเดียวกันแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1467/2528 ของศาลจังหวัดสงขลา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้ เป็นฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2533หรือไม่ คดีเดิมตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4531/2533 เป็นคดีที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็ค 3 ฉบับ ของนางกิ่งแก้วจำนวนเงิน 400,000 บาทนำไปเรียกเก็บเงินแต่ไม่ขอรับเป็นเงินสด ขอเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์เช็คจำเลยออกแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 400,000 บาทให้ต่อมาแคชเชียร์เช็คถูกสั่งระงับการจ่ายเงินเพราะเช็คทั้งสามฉบับของนางกิ่งแก้วเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตามแคชเชียร์เช็ค ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนเดียวกันนั้นอีก แม้โจทก์จะเปลี่ยนแปลงตั้งรูปคดีใหม่เป็นเรียกค่าเสียหาย และขอให้คืนเช็ค 3 ฉบับของนางกิ่งแก้วแต่แท้ที่จริงแล้วก็คือเรียกเงินตามแคชเชียร์เช็คที่สืบเนื่องจากเช็ค3 ฉบับของนางกิ่งแก้วตามคดีเดิมนั่นเอง เมื่อคดีเดิมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share