คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในฟ้องข้อเดียวกัน เพียงแต่โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะบรรยายการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้คำเชื่อมประโยค เช่นคำว่า “โดย” “ดังกล่าวข้างต้น” เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของการกระทำความผิดแต่ละฐาน ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันโดยร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการสมคบกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีน ดังนี้ โจทก์บรรยายฟ้องครอบคลุมถึงความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 65, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 5, 8 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน อุปกรณ์การเสพชนิดกล้องสูบเมทแอมเฟตามีน 2 ชุด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลาง และเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 1 เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 กับจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 3 ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 8 เดือน และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 10 เดือน และปรับ 200,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี กับให้กักขังจำเลยที่ 3 แทนค่าปรับได้ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน อุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีน 2 ชุด และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลาง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยที่ 1 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี รวมกับโทษปรับและโทษจำคุกฐานอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 200,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และยกฟ้องจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 08 2765 XXXX แก่จำเลยที่ 3 สำหรับโทษของจำเลยที่ 2 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารพรานตั้งจุดตรวจแล้วจับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถกระบะมีจำเลยที่ 2 นั่งเบาะข้างคนขับ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 239 เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง อุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีน 2 ชุด รถกระบะยี่ห้อมาสด้า หมายเลขทะเบียน บฉ 43 น่าน เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2557 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3 ได้ตามหมายจับของศาลชั้นต้นพร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2765 XXXX เป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้สมคบกันหรือไม่ โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า “1.1 จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน… 239 เม็ดหรือหน่วยการใช้ น้ำหนักสุทธิ 22.60 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.791 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยจำเลยทั้งสามสมคบกันและร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อจำหน่าย ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับมอบเงิน 12,000 บาท จากจำเลยที่ 3 เพื่อไปซื้อเมทแอมเฟตามีน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมาส่งต่อให้แก่จำเลยที่ 3 ในราชอาณาจักรไทย…” เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในฟ้องข้อเดียวกัน เพียงแต่โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะบรรยายการกระทำความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้คำเชื่อมประโยค เช่นคำว่า “โดย” “ดังกล่าวข้างต้น” เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของการกระทำความผิดแต่ละฐาน ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่า โจทก์ประสงค์ที่จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันโดยร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการสมคบกันนำเข้า ดังนี้ โจทก์บรรยายฟ้องครอบคลุมถึงความผิดฐานสมคบกันกระทำเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานสมคบกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ และในประการสุดท้ายว่า ศาลมีอำนาจสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2765 XXXX ของกลางของจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยรวมไปด้วยกัน เห็นว่า แม้โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่มีลักษณะเป็นคำซัดทอดระหว่างผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงมีน้ำหนักน้อย โดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ไปรับเงิน 12,000 บาท จากจำเลยที่ 3 ที่วัดรัชดาเวลา 21.30 นาฬิกา แต่พันตำรวจตรี ไตรรัตน์ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 กลับเบิกความแตกต่างไปว่า ได้สอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แจ้งว่าไปรับเงิน 12,000 บาท จากจำเลยที่ 3 ที่วัดในช่วงเวลาเย็น และข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 โทรศัพท์เข้ามาหาจำเลยที่ 1 ขณะอยู่ภายในป้อมยามกับเจ้าพนักงานตำรวจและร่วมกันนำจำเลยที่ 1 เดินทางไปยังจุดนัดหมายเพื่อส่งเมทแอมเฟตามีนแก่จำเลยที่ 3 ตามที่สิบตำรวจเอก รัตตภูมิ สิบเอก มารยาท และพันตำรวจตรี ไตรรัตน์ผู้ร่วมจับกุมเบิกความนั้น ปรากฏว่าสิบตำรวจเอก รัตตภูมิเบิกความอ้างว่า ภายในป้อมยามมีเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ทันรับเสียงโทรศัพท์ก็เงียบไป จากนั้นแท็บเล็ตของจำเลยที่ 1 มีเสียงเรียกเข้า จึงให้จำเลยที่ 1 เปิดลำโพงและรับสาย แต่สิบเอก มารยาทและพันตำรวจตรี ไตรรัตน์กลับเบิกความแตกต่างไปว่า มีเสียงเรียกเข้าที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจึงให้จำเลยที่ 1 เปิดลำโพงและรับสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกทั้งสิบตำรวจเอก รัตตภูมิเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่าในการสนทนาผ่านแท็บเล็ตระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ไม่มีการพูดกันถึงเมทแอมเฟตามีน และสิบเอก มารยาทก็เบิกความตอบโจทก์ถามว่า จำไม่ได้ว่ามีการสนทนากันว่าอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันดังกล่าวจะจดจำสาระสำคัญของเหตุการณ์แตกต่างกันหรือจดจำไม่ได้เลย ในส่วนของเหตุการณ์ที่มีการนำจำเลยที่ 1 ไปยังจุดนัดหมายเพื่อจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนแก่จำเลยที่ 3 นั้น สิบเอก มารยาทเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า พยานกับพวกแต่งกายในเครื่องแบบ แต่พันตำรวจตรี ไตรรัตน์กลับเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านแตกต่างไปว่า เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายนอกเครื่องแบบทั้งหมดประกอบกับโจทก์ไม่มีข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีการระบุหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 ว่า 08 2765 XXXX ไว้ในบัญชีของกลางคดีอาญา และในบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ที่เขียนด้วยลายมือในชั้นจับกุมก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์กลับบรรยายว่าจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ในวันที่ 26 มีนาคม 2557 พร้อมยึดได้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2765 XXXX จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งจำเลยที่ 3 ใช้เป็นอุปกรณ์ในการติดต่อสื่อสารซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง เช่นนี้ข้อพิรุธหลายประการดังกล่าว ทำให้มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนสั่งให้จำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนจริงหรือไม่ ทั้งจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 2765 XXXX ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน ศาลจึงไม่อาจสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 08 2765 XXXX แก่จำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ นั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องในความฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาด้วย จึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานนี้ได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด…” ดังนั้น ผู้ที่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องมีตั้งแต่สองคนขึ้นไป เมื่อคดีได้ความว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนสั่งให้จำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนจริงหรือไม่ หรือร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share