คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 แต่มีพนักงานของจำเลยเพียง 3 คนที่ลาออก ไม่ปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานหรือลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย และตามสำเนางบกำไรขาดทุนในปี 2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยก็มีผลประกอบกิจการได้กำไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 มกราคม 2558 ก่อนจำเลยมีผลประกอบกิจการได้กำไรเพียง 2 เดือนเศษ แสดงว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเลยกลับมามีกำไร เหตุในการเลิกจ้างจึงเป็นนโยบายของนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการ ขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
หนังสือเอกสารไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีข้อความเพียงว่าการชำระเงินครั้งนี้เป็นการชำระเงินครั้งสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้างด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้พิจารณาต่อไปว่าในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับ เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แทน ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าภายหลังเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นยอดเงินรวมหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 4,439,773.45 บาท ปัจจุบันนี้โจทก์ได้งานใหม่แล้ว จำนวนเงินภายหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเลิกจ้างนั้นเป็นจำนวนถึง 11.9 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีก โดยที่จำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการพิจารณานั้นมีทั้งค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินอื่น ๆ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 20,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 372,231 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2558 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสือโดยจ่ายค่าจ้างงวดสุดท้าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าชดเชย ค่าโทรศัพท์ประจำเดือนมกราคม 2558 ให้แก่โจทก์ ซึ่งเมื่อหักเงินประกันสังคมภาษี ณ ที่จ่าย และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว คงเหลือ 4,069,398 บาท และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 จำเลยจ่ายเงินเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก 370,375.45 บาท แล้ววินิจฉัยว่า ผลประกอบการของจำเลยในปี 2556 มีผลกำไร ในปี 2557 มีผลขาดทุน แต่จำเลยสามารถดำเนินการอยู่ได้จนกระทั่งในปี 2558 จำเลยจึงมีกำไร แสดงว่าปริมาณงานโครงการต่าง ๆ ของจำเลยมิได้ลดลงจนประสบภาวะขาดทุนจนประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือเอกสาร แต่หนังสือไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่เมื่อคำนึงถึงอายุของโจทก์ ระยะเวลาการทำงาน ความเดือดร้อนเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และค่าชดเชย ประกอบกับโจทก์ได้รับเงินจากจำเลย 4,439,773.45 บาท คิดเป็นเงิน 11.9 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ และปัจจุบันโจทก์ได้งานทำแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์อีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยต้องปรับโครงสร้างของบริษัทจำเลยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปริมาณงานในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยลดลง จึงต้องลดขนาดของแผนกที่เกี่ยวข้องรวมถึงตำแหน่งงานหลายตำแหน่ง ซึ่งรวมทั้งตำแหน่งงานของโจทก์ด้วย ในปี 2558 จำเลยกลับมามีกำไรเพราะจำเลยปรับโครงสร้างและยุบตำแหน่งงานมาตั้งแต่ปี 2556 มิฉะนั้นจำเลยต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน โจทก์ทราบถึงสภาวะการเงินและการปรับโครงสร้างของบริษัทจำเลยเป็นอย่างดีโดยโจทก์เป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2557 นั้น เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ตามสำเนาหนังสือยินยอม ได้ความว่ามีพนักงานของจำเลยเพียง 3 คนที่ลาออก คือ ผู้จัดการโครงการผู้ช่วยงานธุรการโครงการ และสมุห์บัญชี อีกทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานหรือลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย และตามสำเนางบกำไรขาดทุน ในปี 2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยก็มีผลประกอบกิจการได้กำไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 มกราคม 2558 ก่อนจำเลยมีผลประกอบกิจการได้กำไรเพียง 2 เดือนเศษ แสดงว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเลยกลับมามีกำไร เหตุในการเลิกจ้างจึงเป็นนโยบายของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการ ขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือเอกสารตกลงว่าเงินที่โจทก์ได้รับตามหนังสือดังกล่าวเป็นเงินงวดสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิและสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งหมดนั้น มีความหมายว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า หนังสือเอกสารไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีข้อความเพียงว่าการชำระเงินครั้งนี้เป็นการชำระเงินครั้งสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้างด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยนั้นบางส่วนมิได้จ่ายเพราะเหตุเลิกจ้าง เช่น ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่ารักษาพยาบาล ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ และบางส่วนจ่ายเพราะเหตุเลิกจ้าง ได้แก่ ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โจทก์อายุมาก หางานอยู่หลายเดือน และมีภาระผ่อนชำระหนี้ค่าบ้าน ต้องเลี้ยงดูบุพการีและบุตร ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ 20,500,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้พิจารณาต่อไปว่าในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับ เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แทน ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าภายหลังเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นยอดเงินรวมหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 4,439,773.45 บาท ปัจจุบันนี้โจทก์ได้งานใหม่แล้ว จำนวนเงินภายหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเลิกจ้างนั้นเป็นจำนวนถึง 11.9 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์ จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีก โดยที่จำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการพิจารณานั้น มีทั้งค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินอื่น ๆ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย ทั้งคู่ความยังคงโต้แย้งกันอยู่ว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 จำนวน 370,375.45 บาท เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับอยู่แล้วจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานหรือเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 49 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อการกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานขอลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ตามนัยที่กล่าวข้างต้น แล้วมีคำพิพากษาใหม่ในประเด็นดังกล่าวตามรูปคดี

Share