แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า “ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ… ทุจริตต่อหน้าที่..” เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัส 21,444 บาท และจำเลยทั้งสองจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของนายจ้าง 172,620.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัส 21,444 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 เมษายน 2553) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าแผนกสินไหมรถยนต์กลาง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 25,366 บาท แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ออกเช็คแทนจำเลยที่ 1 โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และพิจารณาอนุมัติค่าสินไหมทดแทนจนเกิดความเสียหาย เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ยื่นใบลาออกแต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้อนุมัติเพราะต้องสอบสวนโจทก์ก่อน หลังจากสอบสวนพบว่าโจทก์ทุจริตจึงแจ้งเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเลิกจ้าง โจทก์มิได้ลาออกเอง โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนของจำเลยที่ 1 และผลประโยชน์แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการลาออกของโจทก์มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานทันทีที่โจทก์ยื่นใบลาออกโดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องอนุมัติและโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ นั้น เห็นว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพลูกจ้างในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ตามหนังสือลาออกของโจทก์ ส่วนปัญหาว่าโจทก์จะมีสิทธิที่จะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบหรือไม่ นั้น เมื่อข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.5 ระบุว่า “เมื่อสมาชิกพ้นสมาชิกภาพไม่ว่ากรณีใด กองทุนจะจ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมทั้งจำนวน ส่วนสิทธิในการได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบของสมาชิก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่นายจ้างของสมาชิกนั้นเป็นผู้กำหนดตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายข้อบังคับ” และเอกสารแนบท้ายข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ในส่วนของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฉบับแก้ไขตามมติที่ประชุมใหญ่สมาชิก เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2552 ข้อ 3.3 ก็ระบุว่า “การสิ้นสมาชิกภาพ… (3) ออกจากงานไม่ว่าด้วยสาเหตุอื่นใด” เมื่อข้อเท็จจริงข้างต้นรับฟังว่าโจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงสิ้นสมาชิกภาพแล้ว แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า “ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ… ทุจริตต่อหน้าที่…” เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน