แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หน้าที่โอนขายที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมนั้น ทั้งตามกฎหมายและโดยสภาพไม่ใช่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จึงเป็นมรดกของผู้ตายผู้ซื้อในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีเอาที่ดินของผู้ตายโอนชำระหนี้ให้แก่ตนได้ตามคำพิพากษา
ที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นทรัพย์ซึ่งจะต้องโอนขายตามคำพิพากษาอยู่ก่อนแล้วศาลย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้จนเสร็จการแม้โจทก์จะได้รับมรดกที่ดินมาตามพินัยกรรมและจดทะเบียนรับโอนแล้วแต่ที่ดินดังกล่าวก็เป็นมรดกที่ยังอยู่ในระหว่างจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 เพราะผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้กองมรดกซึ่งปรากฏตัวยังไม่ได้รับชำระหนี้ผู้ซื้อจึงมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมเอาจากกองมรดกของผู้ตายได้โดยตรงไม่จำต้องร้องฟ้องโจทก์เป็นคดีใหม่
การที่ผู้ซื้อขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาจากกองมรดกมิใช่เป็นกรณีฟ้องร้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี แต่เป็นการดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งมีสิทธิทำได้ภายในกำหนด 10 ปี (ปัญหาข้อสุดท้ายนี้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2512)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 ภริยาโจทก์ที่ 1 ได้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 3168 เฉพาะส่วนของนายมุดผู้ตาย โดยนายมุดทำพินัยกรรมยกให้และได้จดทะเบียนโอนเป็นของโจทก์ที่ 2 แล้ว ต่อมาปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวถูกแก้ไขทางทะเบียนว่า โจทก์ที่ 2 ขายส่วนของตนให้จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล ซึ่งโจทก์ไม่รู้เห็นด้วย ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 แจ้งต่อจำเลยที่ 2, 3 ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินส่วนของนายมุดไว้ ต่อมานายมุดตาย โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับมรดกนายมุด จำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาที่ดิน 27,500 บาทไว้ที่ศาลแพ่งแล้วขอให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินของนายมุดให้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งแดงที่ 3645/2505 จำเลยที่ 3 จึงแก้ทะเบียนโอนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์และคำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อนึ่ง จำเลยที่ 1 ก็ไม่วางเงินภายใน 15 วันตามคำสั่งศาล และการขอแก้ไขทะเบียนเป็นเวลาเกิน 1 ปี ขาดอายุความแล้ว ทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 ร้องขอรับมรดก จำเลยที่ 1ก็ไม่คัดค้าน ถือว่าสละสิทธิแล้ว ขอให้บังคับจำเลยแก้ทะเบียนที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ที่ 2 ตามเดิม ถ้าสภาพไม่เปิดช่องให้ทำได้ให้ร่วมกันใช้เงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า นายมุดขายที่ดินตามฟ้องให้จำเลยที่ 1 แล้วผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงฟ้องและนายมุดทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล ยอมขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 แต่เรียกโฉนดจากเจ้าของร่วมมาโอนทางทะเบียนไม่ได้จนนายมุดตาย นายมุดเอาที่ดินไปทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ที่ 2 เป็นโมฆะ เป็นการฉ้อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้การกระทำของจำเลยชอบแล้ว
จำเลยที่ 2, 3 ต่อสู้ว่า จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการ และอ้างเอกสารเป็นพยานแล้วศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า
1. ที่ดินส่วนของนายมุดจดทะเบียนแก้โฉนดเป็นของโจทก์ที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้นายมุดย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่นายมุดเท่านั้น ไม่มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์ เมื่อนายมุดตายหน้าที่โอนที่ดินเป็นการเฉพาะตัวของนายมุดย่อมสิ้นไป โจทก์ที่ 2ไม่มีหน้าที่ต้องโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1
2. โจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนายมุดกับจำเลยที่ 1 และที่ดินโอนมาเป็นของโจทก์ที่ 2 แล้วจึงโอนที่ดินรายนี้ไปเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ได้
3. จำเลยที่ 1 บังคับคดีเอาจากกองมรดกเกิน 1 ปีนับแต่นายมุดตาย ขาดอายุความแล้ว
ข้อแรกศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หน้าที่นายมุดเจ้ามรดกซึ่งจะต้องโอนขายที่ดินของตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ตกเป็นกองมรดก เพราะการจัดการโอนที่ดินไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นการอันนายมุดต้องทำเองโดยเฉพาะหรือโดยสภาพก็มิใช่กิจการอันเป็นการเฉพาะตัวของนายมุดโดยแท้ด้วยดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้กองมรดกมีสิทธิดำเนินการขอให้ศาลบังคับคดีเอาที่ดินของนายมุดชำระหนี้แก่ตนได้ตามคำพิพากษา ข้อสองศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อนายมุดตาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ขอให้โจทก์ที่ 2 รับมรดกความนายมุดด้วย หากแต่ศาลยกคำร้องเสียโจทก์ที่ 2 จึงขอรับโอนมรดกที่ดินนายมุดมาตามพินัยกรรม ที่ดินมรดกของนายมุดนั้นเป็นทรัพย์ซึ่งจะต้องโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาอยู่ก่อนนายมุดตายศาลย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลได้จนเสร็จการ โจทก์ที่ 2 จะถือเอาว่าที่ดินเป็นของตนหาชอบไม่ โดยเฉพาะคดีนี้ โจทก์ที่ 2 ก็ได้รับโอนที่ดินมาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าที่ดินนั้นจะต้องขายให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องฟ้องเรียกร้องจากโจทก์ที่ 2 เป็นคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1738 ทั้งที่ดินรายนี้ก็เป็นมรดกที่ยังอยู่ในระหว่างจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏตัวอยู่นี้ยังมิได้ชำระหนี้ จึงชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมเอาจากกองมรดกของนายมุดได้โดยตรง
ฎีกาข้อสุดท้าย ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดก ไม่ใช่กรณีฟ้องร้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ1 ปี แต่เป็นการดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งมีสิทธิทำได้ภายในระยะเวลา 10 ปี
พิพากษายืน