คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภริยาอยู่กินด้วยกันมาได้ 30 ปีเศษ. ขณะมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือในทางค้าขาย แสดงว่าสามีภริยาต่างก็มีอุปการะซึ่งกันและกัน. ฉะนั้นเมื่อฝ่ายหนึ่งตายลง ย่อมเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องขาดไร้อุปการะและการขาดไร้อุปการะเช่นว่านี้เป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย.ผู้ที่มีชีวิตอยู่จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสายท่าเตียน-ดาวคนอง ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารตามเส้นทางในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้รถยนต์ชนนางเง็กเตียงแซ่คู ภรรยาโจทก์ในทางม้าลายถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายรวม 185,728 บาท 80 สตางค์ จำเลยทั้งสองให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ประมาทชนภริยาโจทก์ถึงแก่ความตายจริง คงปฏิเสธค่าเสียหายว่าโจทก์เรียกสูงเกินไป ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์เป็นสามีผู้ตายโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้สำหรับค่าขาดไร้อุปการะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 เห็นควรให้ 20,000 บาทส่วนค่าเสียหายในการปลงศพควรให้ 60,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าตามฟ้อง โจทก์มีความประสงค์เรียกค่าขาดแรงงานตามมาตรา 445 ไม่ใช่ค่าเสียหายเพราะเหตุขาดอุปการะซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้ตามมาตรา 445 ส่วนค่าใช้จ่ายปลงศพควรกำหนดให้เพียง 10,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนขาดไร้อุปการะ 20,000 บาท ชอบแล้ว ส่วนค่าปลงศพสูงไปควรกำหนดให้เพียง 40,000 บาท พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินรวม60,000 บาท โจทก์ฎีกาว่า ค่าปลงศพที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 60,000 บาทนั้นเป็นการสมควรแล้ว จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้ยกคำขอที่ขอค่าขาดไร้อุปการะและขอให้ลดค่าปลงศพลงเหลือเพียง 20,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุตายลงนั้นทำให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เพราะสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน เมื่อเป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นได้ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่าง ๆ ประกอบกับขนบธรรมเนียมประเพณีของโจทก์ จึงกำหนดให้ค่าทำศพ 60,000 บาท พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share